เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิงอีกต่อไป โดยมีสาระสำคัญ
คือ 1.กำหนดให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้
2. แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใด
3 .เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่หมั้นหรือคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด
4. แก้ไขเงื่อนไขระยะเวลาการสมรสใหม่ ให้ใช้เฉพาะกับกรณีที่หญิงที่มีชายเป็นคู่สมรสเดิมจะสมรสใหม่กับชายเท่านั้น ส่วนกรณีหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ มีผลใช้บังคับเฉพาะกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเท่านั้น
6. แก้ไขการอ้างอิงเลขมาตราที่บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ
ทั้งนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากใครจะไปจดทะเบียนสมรสตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ทันทีระหว่างที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้ ต้องรอให้พ้น 120 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป จึงจะสามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) ว่า “อีกก้าวสำคัญของสังคมไทย กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วครับ ความเสมอภาคและเท่าเทียมเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ความหลากหลายทางเพศสภาพจะได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่เสียทีครับ ยินดีด้วยครับ”
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทาง X (ทวิตเตอร์) เช่นกันว่า “แด่ทุกความรัก… ยินดีกับความรักของทุกคนค่ะ #LoveWins ขอบคุณการผลักดันจากทุกภาคส่วน เป็นการต่อสู้ร่วมกันของทุกคนค่ะ #สมรสเท่าเทียม”