ศาล รธน. เอกฉันท์ ตีตก 2 คำร้อง ล้มเลือก สว. ไม่เข้าหลักเกณฑ์กฎหมาย

wewy (4)-min

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่ นายนพดล สุดประเสริฐ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ. 2561 มาตรา 15 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา 11 (20) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่

โดย ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สิทธิในการยื่นคำร้อง ไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) กรณีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ พลตำรวจโท กฤตไชย ทวนทอง และนายแดน ปรีชา (ผู้ร้องรวม 2 คน) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องรวม 8 คน) ร่วมกันดำเนินการประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ทั้งที่มีเหตุอันควรสงสัยและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำของผู้ถูกร้องที่มิได้สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเลือก และสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้เสื่อมทราม อ่อนแอลง หรือทำลายล้างสถาบันนิติบัญญัติอันเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งแปด กระทำการใด ๆ อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก