กระทรวงเกษตรฯ ยัน ! น้ำไม่ท่วมกทม. – ปริมณฑล อาจกระทบปชช.ริมแม่น้ำช่วงน้ำทะเลหนุน

wewy (1)-min

โฆษกกษ. ยืนยัน ! น้ำไม่ท่วมกทม. และปริมณฑลแต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง พร้อมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาสอดคล้องกับน้ำเหนือและฝนตกในพื้นที่

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1 – 17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำแหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆสำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ณห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติกำภูกรมชลประทานถนนสามเสนซึ่งจากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะแม่น้ำปิงที่จังหวัดเชียงใหม่ฝนที่ตกชุกกระจายทางตอนบนของลุ่มน้ำปิงส่งผลให้เกิดน้ำหลากในลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงก่อนจะไหลลงมาสมทบในแม่น้ำปิงส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจโดยที่สถานีวัดระดับน้ำP.1 สะพานนวรัฐอำเภอเมืองเชียงใหม่เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 5 ต.ค. 67 ระดับน้ำขึ้นสูงสุด 5.30 ม.(รสม.) สูงกว่าระดับตลิ่ง +1.59 ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงลดลงอย่างต่อเนื่องแล้วซึ่งปริมาณน้ำจากลำน้ำปิงจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลทั้งหมดทำให้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้นสำหรับสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าได้อย่างเพียงพอ

ด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพลเขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 19,650 ล้านลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,221 ล้านลบ.ม. กระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทานจึงได้บริหารจัดการน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบนด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดพร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนกลางด้วยการหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงธรรมชาติส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาที่สถานีวัดระดับน้ำ C.2 อ.เมืองจ.นครสวรรค์ คาดการณ์ว่าในช่วง 1 – 7 วันข้างหน้าที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200 – 2,500 ลบ.ม./วินาทีส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามไปด้วยซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจ.ชัยนาทให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาทีในช่วงนี้เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุดซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่สถานีวัดน้ำอ.บางไทรจ.พระนครศรีอยุธยามีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,990 ลบ.ม/วินาทีหรือคิดเป็น 70% ของความจุลำน้ำซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำกรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้กรมชลประทานได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องพร้อมนำข้อมูลการคาดการณ์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าจากสถานีวัดน้ำท่ามาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์มีการจัดจราจรน้ำให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมืออาทิเครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆรวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยงที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองท้องถิ่นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

แท็ก