สำนักข่าวซินหัว รายงาน โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งหนึ่งของจีนได้ประยุกต์ใช้วิธีการรักษาโรคด้วยการใช้สายสวนผ่านผิวหนังแบบไม่ต้องใช้รังสี ในการรักษาโรคหัวใจอย่างแพร่หลาย
รายงานระบุว่าวิธีการรักษาข้างต้น ที่โรงพยาบาลฟู่ไว่ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การแพทย์จีนได้เริ่มใช้นั้น ใช้ภาพอัลตราซาวนด์เป็นตัวชี้ทาง และส่งเครื่องมือการรักษาจากหลอดเลือดส่วนลึก (peripheral blood) เข้าสู่หัวใจด้วยวิธีการที่รุกล้ำเพียงน้อย หรือ แบบแผลเล็ก (minimally invasive)
วิธีการนี้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดและการใช้รังสีนำ อีกทั้งคนไข้ยังไม่จำเป็นต้องดมยาสลบระหว่างกระบวนการรักษาอีกด้วย
โรงพยาบาลฯ ระบุว่าสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้ และผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการนี้ได้ และอุปสรรคทางเทคนิคก็ลดลง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือขนาดใหญ่นำเข้าราคาแพง
เป็นที่คาดว่ากระบวนการนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพของบริการทางการแพทย์ระดับปฐมภูมิ และให้การรักษาโรคหัวใจสำหรับผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งยังสามารถช่วยปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจในประเทศและภูมิภาคที่มีทรัพยากรทางการแพทย์จำกัด
อนึ่ง การรักษาหัวใจรูปแบบนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN)
ปัจจุบันโรงพยาบาลฯ ได้คิดค้นวิธีการรักษาแบบใหม่ออกมามากกว่า 17 วิธี เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือดหลายประเภท เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยได้รับสิทธิบัตรแล้ว 65 ฉบับ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลฯ ยังได้พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาต่างๆ อาทิ สายสวนคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic catheter) และหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมี 23 รายการ ที่พร้อมให้บริการทั้งในจีนและต่างประเทศ นอกจากนี้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลฯ ได้รับเชิญให้ไปทำการผ่าตัดและแนะนำวิธีการรักษาแบบจีนในมากกว่า 30 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา รัสเซีย และเคนยา