นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่ง 8 ความเห็นเรื่องนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับรัฐบาลว่า ยังไม่มีเอกสารส่งถึงอย่างเป็นทางการ แต่ได้เห็นแล้วในรายละเอียดมีข้อห่วงใยบางประการ เช่น เรื่องขอบเขตกรอบอำนาจ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ตามมาตรา 32 ได้พูดถึงการให้ ป.ป.ช. ทำข้อเสนอแนะเรื่องนโยบายได้ แต่เป็นเรื่องป้องกันทุจริต แต่เรื่องนี้เป็นการท้วงติงในลักษณะที่บางข้อเป็นอำนาจ ขอบเขตของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นจริง จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในครั้งหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุวันมาแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือวันที่ 15 ก.พ.นี้ กรอบงานยังเหมือนเดิมและเดินหน้าโครงการต่อไป โดยตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อตรวจสอบการทุจริต และรับฟังความเห็นในสังคม รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบการเงินอื่นๆ เพื่อให้ตัวระบบมีความครอบคลุมมากขึ้น
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากเอกสารของ ป.ป.ช. เข้ามาทัน เราจะนำเข้าหารือในที่ประชุมเช่นกัน บางประเด็นอาจเป็นความไม่เข้าใจของ ป.ป.ช.ในเบื้องต้น หรืออาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แต่เราชี้แจงได้ เช่น เรื่องกลไกเปลี่ยนเป็นการกู้ เรื่องบล็อกเชนที่ตอบง่ายมาก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่แตกต่าง สามารถชี้แจงได้ ส่วนเรื่องใดที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติม ก็จะหาหนทางชี้แจงและทำความเข้าใจต่อไป
เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ ถึงความเห็นของป.ป.ช. มีเรื่องรายละเอียดนโยบายที่ไม่เหมือนตอนหาเสียงนั้น อาจเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และอาจส่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องนี้นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่านโยบายในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนหน้าแทบไม่มีเลย ตนก็ท้วงติง และอย่างน้อยเราทำตามที่เราบอกไว้ ถึงแม้รูปแบบจะเปลี่ยน
หากไปอ้างถึงนโยบายของพรรค ต้องเรียนว่าตอนที่ทำนโยบาย ทุกนโยบายเมื่อเขียนส่งต่อกกต. จะมีการกำหนดว่า ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เพราะเมื่อความเหมาะสมเปลี่ยนไป เรามีความจำเป็นต้องเปลี่ยน
“นี่ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลประกอบขึ้นจากหลายพรรค เมื่อหารือตกลงกันแล้ว มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เราจะยึดเอานโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ต้องผสมผสานกันทั้งหมดเพื่อหาความลงตัวที่สุดและเดินหน้าได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่ากลุ่มเป้าหมายยังเป็นกลุ่มเดิมหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยนโยบายนี้ที่ป.ป.ช. ตั้งข้อเสนอแนะในข้อท้ายๆ ดูเหมือนจะเสนอว่าให้กลับไปใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขณะนี้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และเราเห็นชัดเจนว่ากลไกของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาในการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการหยอดน้ำข้าวต้ม เราจึงต้องมีกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมา ฉะนั้น แนวคิดในการทำนโยบาย แน่นอนว่าเป็นของรัฐบาลเพราะรัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อประชาชน
“บางหน่วยงานไม่ต้องตอบรับเสียงสะท้อนต่อประชาชน หากเศรษฐกิจดำดิ่งหนักลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คนรับผิดชอบคือรัฐบาล ซึ่งเราต้องแสดงความชัดเจนว่า นโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาแล้ว บรรจุเป็นนโยบายของรัฐ มีหน้าที่ที่ต้องเดินหน้าให้ได้ แน่นอนว่าต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมาย” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะได้ใช้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ตอบตรงนี้ เพราะถ้าบอกไปแล้ว จะเป็นการกะเกณฑ์แล้วไม่ถูกต้องจะไม่เป็นผลดี
เมื่อถามว่าในการประชุมวันที่ 15 ก.พ. นี้ จะเป็นจุดชี้วัดว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเราชัดเจนว่าเราจะเดินหน้า ส่วนกรอบเวลารอให้สะเด็ดน้ำก่อน ให้ฝุ่นหายตลบก่อนแล้วจะเห็นชัดขึ้น
เมื่อถามถึงมีกังวลหรือไม่ว่าหากรัฐบาลเดินหน้าจะมีนักร้องไปร้องเรียน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนักร้องเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็มีคนร้อง แต่ถามว่าถ้าเป็นประโยชน์กับประชาชน และประชาชนต้องการให้เราเดินหน้านโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ เราก็จะเดินหน้า และยืนยันว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์