ประกาศล่า 1 แสนชื่อคนคลั่งชาติ ‘หมอวรงค์’ ลั่นยกเลิก MOU 44

Hotnews เริ่ม 1 ตุลา 66 - 2024-11-08T081129.284
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี แถลงข่าวที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด รณรงค์ ขอ 100,000 รายชื่อคนคลั่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูดและสมบัติชาติ ผ่านช่องทาง https://nationalist.onrender.com โดยมี 3 ข้อเสนอคือ
1. ให้รัฐบาลยกเลิก MOU 2544 โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของประเทศ
2. รัฐบาลควรประกาศไม่ยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ประกาศในปี พ.ศ. 2515 เพราะไม่มีหลักการทางกฏหมายทะเลระหว่างประเทศ และเป็นการอ้างสิทธิ์ที่เกินสิทธิ์ และใช้แผนที่แบ่งเขตทางทะเล เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ที่ UNCLOS ประกาศเป็นแนวทางเจรจา ถ้าต้องมีการเจรจา
3. รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ให้กัมพูชา แต่จะต้องเจรจาเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะถ้ามีการแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนการเจรจาดินแดน จะนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในอนาคต
นพ.วรงค์ ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลไทยไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีป (เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล) ที่กัมพูชาประกาศขึ้น อย่างไม่มีหลักกฎหมายรองรับเมื่อปี พ.ศ. 2515 เพราะเป็นเส้นที่ลากจากเขตแดนไทย-กัมพูชาทางบกหลักที่ 73 ตรงมายังเกาะกูด ซึ่งเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี ค.ศ.1907 ข้อ 2 แล้ว อ้อมตัวเกาะเป็นรูปครึ่งวงกลม ก่อนจะลากตรงต่อไปกลางอ่าวไทย ก่อให้เกิดเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ระหว่างเส้นเขตไหล่ทวีปตามอำเภอใจของกัมพูชาในปี พ.ศ.2515 กับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ไทยประกาศในปี พ.ศ.2516 โดยยึดหลักการตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ตรงไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชาตรงออกไปกลางอ่าวไทย
ดังนั้นแล้ว การที่ MOU 44 ยอมรับการลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาผ่านเกาะกูด แม้เป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา แต่เป็นการอ้างสิทธิที่เกินสิทธิ และไม่ถูกต้อง การที่ MOU 44 ไปยอมรับการมีอยู่เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงและย้อนแย้งกับสิทธิของเกาะกูด ที่จะต้องมีเขตทะเลอาณาเขต เขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ในฐานะรัฐบาลไทยไปยอมรับได้อย่างไร ที่ MOU 44 ไปยอมให้เกาะกูดเหลือแต่ตัวเกาะ แต่พื้นที่โดยรอบของเกาะกูด โดยเฉพาะพื้นที่ด้านประชิดกับกัมพูชา กลายเป็นพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ และเกิดเป็นทับซ้อน ซึ่งย้อนแย้งโดยสิ้นเชิง กับหลักเขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200ไมล์ของเกาะกูด ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ นั่นคือ เฉพาะเกาะกูด ประเทศไทยจะมีแค่ตัวเกาะ ส่วนพื้นที่ทางทะเลรัฐบาลไปยอมรับว่าทับซ้อนกับทางกัมพูชา
ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า แม้ใน MOU 44 จะยอมให้ใช้กฏหมายระหว่างประเทศ เพื่อเจรจาเขตแดน แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) ซึ่งอาจทำให้เป็นข้ออ้างของกัมพูชา และมีอุปสรรคต่อการเจรจาเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจะเจรจาด้วยหลักการอะไร ไทยควรเรียกร้องให้กัมพูชาลงสัตยาบัน UNCLOS เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการเจรจา
ประเภท : การเมือง
แท็ก