นักวิจัยอิสราเอลพัฒนาวิธี ‘บำบัดด้วยออกซิเจน’ รักษาผู้ป่วยพีทีเอสดี

wewy -min

สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ (10 พ.ย.) ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟของอิสราเอลเปิดเผยว่าคณะนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาการรักษาด้วยออกซิเจนแบบพิเศษสำหรับผู้มีความผิดปกติทางจิตใจหลังจากเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือโรคพีทีเอสดี (PTSD) ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองอันเป็น “บาดแผลทางชีวภาพ”

โรคพีทีเอสดีสามารถเกิดขึ้นหลังจากเผชิญเหตุการณ์ที่คุกคามชีวิต ส่งผลกระทบต่อผู้รอดชีวิตราวร้อยละ 20 และก่อให้เกิดความผิดปกติอันมีนัยสำคัญทางสังคม ครอบครัว และการทำงานด้วยอาการต่างๆ เช่น ฝันร้าย หวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ระแวดระวังเกินเหตุ และหลีกหนีสังคม

ผลการศึกษาร่วมของมหาวิทยาลัยฯ และศูนย์การแพทย์ชามีร์ทางตอนกลางของอิสราเอล ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารจิตเวชศาสตร์คลินิก (JCP) ระบุว่าคณะนักวิจัยพบการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (HBOT) ช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยโรคพีทีเอสดีที่ไม่ตอบสนองต่อจิตบำบัดและการให้ยาทางจิตเวช

การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงจะจัดผู้ป่วยอยู่ในห้องพิเศษที่มีความดันบรรยากาศสูงกว่าระดับน้ำทะเลและหายใจรับออกซิเจนบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยการศึกษานี้แบ่งผู้เข้าร่วมให้ได้รับการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงกับรับยาหลอกและหายใจรับอากาศปกติ

สำหรับกลุ่มที่รับการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ผู้ป่วยแต่ละรายจะเข้าห้องปรับความดันบรรยากาศสูง ครั้งละ 2 ชั่วโมง จำนวน 60 ครั้ง ซึ่งผู้ป่วยจะถอดหน้ากากออกซิเจนทุก 20 นาที และหายใจรับอากาศปกติเป็นเวลา 5 นาที

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รับการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูงมีการเชื่อมต่อในเครือข่ายสมองที่พัฒนาดีขึ้นและอาการทั่วไปของโรคพีทีเอสดีลดลง ส่วนกลุ่มที่รับยาหลอกไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

คณะนักวิจัยอธิบายว่าการบำบัดนี้รักษา “บาดแผล” ของสมองและลดอาการทั่วไปของโรคพีทีเอสดีอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะระดับออกซิเจนที่ลดลงระหว่างการบำบัดกระตุ้นกระบวนการรักษาและเพิ่มผลการรักษา โดยการบำบัดใหม่นี้อาจช่วยผู้ป่วยโรคพีทีเอสดีจำนวนมากทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมได้ตามปกติ

 

ประเภท : ต่างประเทศ
แท็ก