ไม่สนแรงต้าน! จุดเริ่มต้นความขัดแย้งสังคม “เทพไท” เตือน ตั้ง “กิตติรัตน์” ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

wewy-min

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ว่า ตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ : ท้าทายกระแสสังคม

หลังจากคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าประธานคณะกรรมการสรรหา จะไม่ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้ต้องทำตามความต้องการของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้าเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะถ้าไม่ต้องการให้นายกิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติจริง ก็คงไม่เสนอชื่อเข้ามา ส่วนอีก2คน ที่เสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น

ต้องยอมรับว่า รัฐบาลตั้งธงที่จะเอา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นพระประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้ได้มาตั้งแต่ต้น เคยมีกระแสข่าวว่าจะเปลี่ยนตัวจากนายกิตติรัตน์ เป็นคนอื่น แต่ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ยังคงยืนยันชื่อของนายกิตติรัตน์ต่อไป ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอดีตผู้ว่าฯธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างน้อย4 คน และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 300 กว่าคน รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมาก ที่แสดงออกไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะไม่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง แต่ในที่สุดคณะกรรมการสรรหาก็เคาะชื่อ นายกิตติรัตน์ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ โดยไม่สนใจกระแสคัดค้านของสังคม นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการท้าทายกระแสสังคมของรัฐบาลชุดนี้

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งคำถามว่า ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย มีบทบาทอย่างไร และมีความสำคัญแค่ไหน โดยพยายามอธิบายกับสังคมว่า ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากต่อนโยบายการเงินของประเทศเลย จึงมีการตั้งคำถามกลับไปว่า ในเมื่อคิดว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีบทบาท และไม่มีความสำคัญใดๆ แล้วทำไมรัฐบาลยังดันทุรัง เสนอนายกิตติรัตน์ ให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมทำไม ถ้าคิดว่าไม่มีบทบาทสำคัญ ก็ปล่อยให้มีการสรรหาไปโดยตามปกติ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไม่ควรเสนอชื่อบุคคลแบบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนฝ่ายการเมือง

ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่แคร์กระแสสังคม ไม่ฟังเสียงคัดค้านใดๆ จากภาคประชาสังคม ก็ขอเตือนให้ระมัดระวังว่า นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ที่เกิดจากความท้าทายของรัฐบาลเอง และเมื่อเกิดความขัดแย้งในหลายประเด็นสะสมแต้มไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้รัฐบาลชุดนี้ถึงจุดจบไวขึ้น

 

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก