ที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เป็นอีกหนึ่งวันที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญ ปี 2567 รณรงค์ภายใต้แนวคิด : “Diabetes and Well-Being” เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้เป็นเบาหวานให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะปัจจุบันโรคเบาหวานนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลก สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยทุกๆ 10 คน เป็นเบาหวาน 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมโรคนี้
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตาบอลิสม มีนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัย อาทิ การให้บริการ ในคลินิกเฉพาะทางภายใต้ชื่อ “C-Diabetes” ซึ่งให้การดูแลแบบองค์รวมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง การใช้ปั๊มอินซูลิน ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพ การให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และ CUEZ endocrine” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการกินน้ำตาลเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือ อาหาร และขนม เป็นต้นเหตุทำให้อ้วนลงพุง ไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน สสส. เดินหน้าลดการบริโภคน้ำตาลตั้งแต่ต้นทาง ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันมาตรการทางภาษีความหวาน ภายใต้ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเสี่ยงต่อสุขภาพ สนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่มที่หวานน้อย ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบการบริโภคน้ำตาลลดลงจาก 27 ช้อนชา/วัน ในปี 2560 เหลือ 25.2 ช้อนชา/วัน ในปี 2565 แม้ว่าแนวโน้มลดลง แต่ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน กว่า 4 เท่า
“สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งปรับการทำงานให้เข้มข้นควบคู่กับการรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องผ่านนวัตกรรมสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชัน Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร การทำงานเชิงระบบ เช่น เกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) เป็นกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดหวาน มัน เค็ม เกิดการผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กนักเรียน ขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน กว่า 2,000 แห่ง ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ต้องทำควบคู่กับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว