“ศิริกัญญา” ฟาด มาตรการรัฐบาล จำเป็นต้องมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ

Hotnews เริ่ม 1 ตุลา 66 - 2024-11-21T080838.724
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน แสดงความคิดเห็นผ่าน บัญชี x พรรคประชาชน ระบุ
[ 3 ปัญหาใหญ่ เศรษฐกิจไทยใต้ตัวเลข 3% ]
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์เพิ่งออกมาประกาศว่าโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ เพราะได้แรงขับจากงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาไตรมาส 2 และเร่งเบิกจ่ายกันในไตรมาส 3 ทั้งส่วนของรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกที่กลับมาดี และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว
แต่ในรายงานของสภาพัฒน์เอง ได้ระบุปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่อย่างน้อย 3 ข้อ
🔴(1) การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะที่หดตัวลง (รถกระบะเชิงพาณิชย์นับเป็นการลงทุน) และยอดขายบ้านที่ลดลง จากการไม่ปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
🔴(2) การผลิตสินค้าเกษตรในหมวดพืชสำคัญหลายรายการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวเปลือก ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลกระทบของน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเอลนีโญ (El Niño) ไปสู่สภาวะลานีญา (La Niña)
🔴(3) หลายภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่า 50% เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (49%) เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (43%) บรรจุภัณฑ์พลาสติก (49%) แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัว แต่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขายสินค้าคงคลังที่ค้างอยู่
[ มาตรการรัฐบาลเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ]
ภายใต้ตัวเลขที่ขยับดีขึ้น พร้อมกับหลายปัญหาที่ว่ามาข้างต้น รัฐบาลมีทางออกอย่างไร?
ในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกหลังจากตั้งมาแล้ว 2 เดือน แต่มาตรการที่ออกมากลับไม่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาและรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
– แจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็น Digital Wallet) ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้า ช่วงตรุษจีน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าแจกวันที่เท่าไร ลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไร
– ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภค ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรบ้าง
– โครงการไร่ละพัน (ที่ปกติเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว) บอกเพียงว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับอะไร
มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เป็นนโยบายที่ควรทำ แต่การเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งทุนสำรองลดลงและมีกำไรเพิ่ม ไม่ได้การันตีว่าจะส่งผลต่อการปล่อยกู้ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะสาเหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้มักเกิดจากความเสี่ยงของลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้
วิธีที่จะแก้ปัญหาให้ตรงจุดคงต้องกลับไปทำให้รายได้ประชาชนและรายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ (credit risk) ด้วย จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย
แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะเพิ่มรายได้ประชาชนด้วยการแจกเงินหมื่นให้คนอายุเกิน 60 ปี 3-4 ล้านคน ชวนให้ตั้งคำถามได้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยและชีวิตคนไทยดีขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่อย่างภาคเกษตรที่เราต้องเริ่มปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน กลับมีเพียงมาตรการไร่ละพัน ที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกในอนาคต หรือใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
[ ระยะสั้นต้องชัดเจน – ระยะกลางต้องให้น้ำหนัก 3 โจทย์ใหญ่ ]
ในขณะที่กำลังการผลิตของหลายภาคอุตสาหกรรมยังไม่กระเตื้อง รัฐบาลควรประเมินให้ละเอียดว่าเป็นผลจากการหดตัวของกำลังซื้อในประเทศ หรือเพราะต้องเผชิญการไหลทะลักของสินค้านำเข้า ที่จำนวนมากไม่มีมาตรฐาน และยังควรเตรียมตัวให้พร้อมกับสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ที่อาจส่งผลลบต่อการผลิตและการส่งออกของไทยยิ่งกว่าปีนี้
เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างมีอนาคต มาตรการระยะสั้นจำเป็นต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือแบบที่เป็นอยู่ ในขณะที่มาตรการระยะกลางต้องให้ความสำคัญกับโจทย์ใหญ่ 3 ข้อของเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ การผลิตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ถดถอย และผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อภาคเกษตรไทย
ประเภท : การเมือง
แท็ก