สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน เมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) ที่ผ่านมา เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) หนังสือพิมพ์ของสหรัฐฯ เผยว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดค้นพบว่าความแก่ตัว (aging) เกิดขึ้นอย่างไร้กฎเกณฑ์มากกว่าที่คาดกันไว้มาก โดยอาจเริ่มต้นจากส่วนต่างๆ ของร่างกายในเวลาแตกต่างกันไป และอาจเกิดมาเนิ่นนานก่อนที่เจ้าของร่างกายจะทันคิดเรื่องความแก่ตัวเสียอีก
“ความแก่ตัวยังเป็นเรื่องปัจเจก มันเกิดขึ้นในระดับโมเลกุลภายในตัวเราแต่ละคน และเราอาจควบคุมกระบวนการนี้ได้เพียงบางส่วน” รายงานระบุ พร้อมเสริมว่าเมื่อเรารู้ว่าอวัยวะแก่ตัวลงอย่างไร เราอาจสามารถหยุดยั้งหรือเร่งกระบวนการนั้นได้ผ่านวิถีการดำเนินชีวิต
คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ชีววิทยาโมเลกุลขั้นสูง พันธุศาสตร์ และคลังข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคน จนสามารถบอกได้ว่าผู้คนบางส่วนมี “หัวใจแก่” ที่หมายความว่าหัวใจของพวกเขาแก่กว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกายเป็นอย่างมาก หรือมี “สมองแก่” หรือ “สมองอ่อนวัย” ซึ่งหมายถึงมีสมองค่อนข้างอ่อนวัยกว่าอวัยวะอื่นในร่างกาย และอาจมี “กล้ามเนื้อแก่” หรือ “ตับอ่อนวัย” ซึ่งอวัยวะแทบทุกส่วนสามารถเป็นอวัยวะแรกที่ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของความแก่ตัวเร็วกว่าปกติได้
รายงานชี้ว่าผลสืบเนื่องจากความแก่ตัวต่อสุขภาพมนุษย์นั้นมีอยู่จำนวนมาก โดยในผลการศึกษาเกี่ยวกับการแก่ตัวลงของอวัยวะในมนุษย์ครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าผู้มีหัวใจแก่มีแนวโน้มเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนอื่น ขณะผู้มีสมองอ่อนวัยมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมช่วงบั้นปลายชีวิตน้อยกว่าผู้มีสมองปกติหรือสมองแก่ประมาณร้อยละ 80
ด้านแฮมิลตัน เซ-ฮวี โอ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้นำการศึกษาวิจัยระหว่างศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าผลลัพธ์ข้างต้นตอกย้ำว่า “ความแก่ตัวเป็นเรื่องซับซ้อนเพียงใด” และถือเป็นหนึ่งในข้อสรุปแรกๆ ที่เป็นไปได้จากในบรรดาศาสตร์ด้านการแก่ตัวลงของมนุษย์ที่มักถูกพูดถึงแบบเกินจริงไปมาก