นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยวันที่ 11ธ.ค.67 กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ และสมาคมธนาคารไทย จะแถลงมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ ธปท. หลังจากได้ร่วมหารือจนจบ และได้รายละเอียดครบถ้วนแล้ว โดยการแก้หนี้ต้องให้เวลาในภาพรวม 3 ปี
ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยทางคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มีมาตรการแก้หนี้ภาคครัวเรือนในกลุ่มหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนที่สามารถฟื้นกลับมาเป็นหนี้ดีได้ (NPL) เฉพาะหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 31 ต.ค.67 รวม 2.3 ล้านบัญชี รวม 1.31 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลเข้าไปดูแลโดยใช้แนวทางให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 0.23% เป็นระยะเวลา 3 ปี ประกอบกับมีเงินสมทบจากธนาคารและสถาบันการเงินใส่เข้าไปอีกส่วนหนึ่ง เมื่อรวมกันก็จะมีเงินจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้
ส่วนหนี้ที่อยู่อาศัย จะเข้าไปช่วยในมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท/ราย เป็นหนี้NPLไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ย จะเข้าไปช่วยเหลือจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท ส่วนหนี้รถยนต์ มูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ยจำนวน 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท
ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท และแขวนดอกเบี้ย 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.54 แสนล้านบาท จะต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนผ่านธนาคารที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่ในปัจจุบัน หากไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิ์ ส่วนจะมีการแฮร์คัตหนี้หรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม