นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข้าวเด็ด” 8 พ.ย.67 กล่าวถึงในเรื่องกรณีของนักร้องสาว “ผิง ชญาดา” ที่เสียชีวิตจากการนวดคออาจเกิดจากกระดูกคอเคลื่อน ซึ่งไปกดเส้นประสาท และไขสันหลังที่ออกมาจากคอแล้วยังมีความเสี่ยงจากการกระทบกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอาจจะต้องนึกถึง 2 ประเด็นหลัก
นพ.ธีระวัฒน์ แนะนำจุดที่ควรระวัง คอด้านหน้าจะมีเส้นเลือดคู่หน้า ที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าและขมับ หากกดหรือบิดแรงๆ อาจทำให้เส้นเลือดถูกกระทบ กระทบกระเทือนสมองได้ ท้ายทอยมีเส้นเลือดข้างหลัง ที่ไปเลี้ยงไขสันหลังและก้านสมอง การกดจุดนี้อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการมืดตามัวหรืออัมพฤกษ์ได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการกดหรือบิดคอในจุดที่มีความเสี่ยงสูงเพราะกระดูกต้นคอหรือท้ายทอยเป็นศูนย์รวมที่สําคัญมาก
นพ.ธีระวัฒน์ เผยวิธีการคลายเมื่อยที่ถูกวิธีเป็นการฝึกกล้ามเนื้อคอและช่วยบรรเทาความเมื่อยล้าคอได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวกโดยไม่ต้องพึ่งการนวดหรือกายภาพบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ มีขั้นตอนหลักๆ คือ ดันศีรษะไปข้างหน้า โดยใช้มือทั้งสองข้างดันศีรษะไปในทิศทางต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ โดยการตั้งศีรษะให้ตรงและไม่เอียงมากเกินไป โดยอาจนับในใจประมาณ 20 วินาที การตั้งคอให้ตรงโดยไม่เงยหน้าหรือก้มมากเกินไป และยังช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง การจัดกระดูกในท่าที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดคอหรือเมื่อยล้าได้ นอกจากนี้ ข้อควรระวังที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
1.ผู้สูงอายุ ซึ่งมีกระดูกคอที่เสื่อมง่าย หากนวดหรือบิดคออย่างแรง อาจทำให้กระดูกเคลื่อนกดทับเส้นเลือดหรือปราสาท เสี่ยงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (เส้นเลือดตีบ) หรือโรคเกี่ยวกับการหมุนเวียนของเลือด หากถูกกดหรือทับบริเวณคอเส้นเลือดสำคัญ อาจทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองได้ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้
3. คนที่ชอบหมุนคอ หรือมีอาการเมื่อยคอตั้งแต่เด็กๆ พอหมุนไปแล้ว 10-20ปี ทำให้เกิดความเคยชิน กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นและมีความเสี่ยงที่กระดูกคอจะไปกดทับเส้นเลือดหรือเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บคอเรื้อรัง หรือเส้นเลือดฉีกขาด
ส่วนเรื่องของ “ ผิง ชญาดา ” ถูกนวดบริเวณใต้รักแร้ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า บริเวณรักแร้และไหปลาร้ามีความอ่อนไหวเพราะมีเส้นประสาทและเส้นเลือดสำคัญที่ไปเลี้ยงแขน ถ้าหากกดแรงเกินไปหรือนานเกินไปอาจทำให้แขนชาหรืออ่อนแรง ซึ่งบางกรณีอาจต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ในการฟื้นตัว และในเรื่องของกรณีเสียชีวิต อาการที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับไขสันหลังและเส้นประสาท หากเป็นเส้นเลือด อาจจะมีอาการเฉียบพลันเหมือนโรคเส้นเลือดตัน แต่กรณีนี้อาการค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยยังมีการนวดต่อหลายครั้งก็อาจทำให้อาการกำเริบและลุกลามไป
นพ.ธีระวัฒน์ ขอไม่ออกความเห็นกับเรื่องที่เสียชีวิตแต่ว่าในลักษณะนี้ก็ขอให้เป็นอุทาหรณ์ว่าการไปนวดในลักษณะดังกล่าว ควรเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการกดจุดที่ไม่เหมาะสม เน้นย้ำไม่ได้มีการต่อต้านการนวด และไม่ได้ต่อต้านคนที่ทำกายภาพบำบัด แต่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ