สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่นำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลียพบว่าอาหารแปรรูปสูง (ultra-processed food) หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมากเป็นพิเศษ เชื่อมโยงกับอายุชีวภาพ (biological age) ที่แก่ตัวไวมากขึ้น
การศึกษาดังกล่าววิเคราะห์การกินอาหารของผู้คนในสหรัฐฯ อายุระหว่าง 20-79 ปี จำนวน 16,055 คน ซึ่งมีสุขภาพและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เทียบเคียงได้กับผู้คนในประเทศตะวันตกอื่นๆ และพบว่าทุกๆ ร้อยละ 10 ของปริมาณแคลอรีที่รับจากอาหารแปรรูปสูงต่อวันในแต่ละบุคคล จะส่งผลให้อายุชีวภาพเพิ่มขึ้น 2.4 เดือน
อนึ่ง อายุชีวภาพ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าอายุทางสรีรวิทยาหรืออายุเชิงฟังก์ชัน เป็นตัววัดอายุเซลล์และเนื้อเยื่อของผู้คน และอาจได้รับผลกระทบจากคุณภาพการนอนหลับ การออกกำลังกาย การบริโภคอาหาร การบริโภคน้ำ และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ขณะที่อายุตามปฏิทินนับจากปีที่เกิดและเป็นเวลาที่เพิ่มขึ้นแบบตายตัว
การศึกษาระบุว่าผู้ใหญ่ที่รับประทานอาหารแปรรูปสูง อาทิ เครื่องดื่มอัดลม ไอศกรีม ช็อกโกแลต ขนมขบเคี้ยวบรรจุหีบห่อทั้งแบบหวานและแบบรสจัด และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะมีอายุชีวภาพมากกว่าอายุตามปฏิทิน
บาร์บารา คาร์โดโซ ผู้เชี่ยวชาญจากแผนกโภชนาการ การรับประทานอาหาร และอาหารของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าผลการค้นพบนี้มีความสำคัญมาก เพราะเผยตัวเลขคาดการณ์ว่าการบริโภคอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นทุกๆ ร้อยละ 10 นั้นเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 2 และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังร้อยละ 0.5 ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยผู้ที่บริโภคอาหารแปรรูปสูงมากที่สุดมีอายุทางชีวภาพสูงกว่าผู้ที่บริโภคอาหารแปรรูปสูงน้อยที่สุดถึง 0.86 ปี
ผลการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลียบริโภคอาหารแปรรูปสูงคิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของการบริโภคพลังงานทั้งหมด ซึ่งคาร์โดโซระบุว่าผลการศึกษานี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่เน้นด้านโภชนาการเพื่อยืดอายุขัยที่มีสุขภาพดี
อนึ่ง การศึกษาข้างต้นดำเนินการร่วมกับทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ และบราซิล