รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ว่า การร่าง พ.ร.บ.กลาโหม นี้เป็นการร่างกฎหมายที่กระทบต่อสถาบันหลัก โดยพรรคเพื่อไทยมีชั้นมีเชิง “ไม่ไร้เดียงสา” หรือ “อนุบาลทางการเมือง” ถึงขนาดปล่อยให้ร่างดังกล่าวเผยแพร่โดยไม่ทราบผลกระทบที่ตามมา เนื่องจากร่างนี้ถูกเผยแพร่เว็บไซต์รัฐสภาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งชี้ว่าเพื่อไทยมีเป้าหมายที่ซับซ้อน นั่นคือการกระตุ้นฐานเสียงมวลชนที่สนับสนุนการปฏิรูปกองทัพ ในขณะเดียวกันก็พยายามแสดงให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่าตนยังเป็นพรรคที่ “ว่านอนสอนง่าย”
“เพื่อไทยกำลังส่งสัญญาณว่า แม้พวกเขาต้องถอยในบางเรื่อง แต่พวกเขายังมีแนวร่วม มีฐานเสียง และยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในสมการอำนาจ”
ด้านพรรคภูมิใจไทย รศ.ดร.โอฬารชี้ว่าการตอบโต้ร่างกฎหมายอย่างหนักแน่นโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมใจไทย เป็นการแสดงบทบาทในฐานะตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม “เสียงของคุณอนุทินในครั้งนี้ สะท้อนถึงความชัดเจนที่ต้องการปกป้องสถานะเดิมของสถาบันหลัก และยังเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์เชื่อมั่นว่าภูมิใจไทยยังเป็นพันธมิตรที่มั่นคง”
รศ.ดร.โอฬาร ยังระบุเพิ่มเติมว่า การออกตัวแรงของภูมิใจไทยในครั้งนี้เป็นการเตือนเพื่อไทยโดยอ้อมว่า การเคลื่อนไหวใด ๆ ที่อาจถูกมองว่าท้าทายสถาบันหลัก อาจสร้างแรงกระเพื่อมในรัฐบาลร่วม
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.โอฬารชี้ว่า การที่เพื่อไทยพยายามโยนความรับผิดชอบไปยัง ส.ส.บัญชีรายชื่อท่านหนึ่ง อาจทำให้ภาพลักษณ์พรรคดูไม่มั่นคง “เพื่อไทยพยายามรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนกลุ่มปฏิรูปและการแสดงความเชื่อฟังต่อฝ่ายอนุรักษ์ แต่การทำเช่นนี้อาจถูกมองว่าพรรคไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน”
รศ.ดร.โอฬารมองว่า สำหรับกระแสประชาพิจารณ์ที่พลิกไปมาระหว่างเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน ซึ่งสะท้อนถึงความแตกแยกในสังคม “นี่คือสนามรบของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปหรือกลุ่มที่ต้องการรักษาสถานะเดิม ทุกฝ่ายต่างระดมกองกำลังเพื่อผลักดันความคิดเห็นของตนเอง”
รศ.ดร.โอฬารสรุปว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเมืองไทย ซึ่งเต็มไปด้วยการเล่นเกมอำนาจระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและฝ่ายที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม “ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทยต่างเล่นบทบาทของตนในสมการอำนาจนี้อย่างระมัดระวัง การประเมินผลลัพธ์ของเกมนี้ยังคงต้องจับตามองต่อไป”