เปิดข้อกฎหมาย ฟ้องธนาคาร …ร่วมรับผิดมิจฯหลอก ….”ชาล็อต” 4 ล้าน

Hotnews เริ่ม 1 ตุลา 66 (4)-min

 

ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ให้สัมภาษณ์ ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงกรณีมิจฉาชีพหลอกโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร โดยหนึ่งในกรณีที่ถูกพูดถึงคือผู้เสียหายซึ่งเป็นนายหน้าบริษัทประกันภัย ถูกมิจฉาชีพหลอกให้รอสายโทรศัพท์ เพียงไม่นาน เงินในบัญชีจำนวน 1.9 ล้านบาท ก็ถูกโอนออกไปและกระจายสู่บัญชีม้ากว่า 40 บัญชี และกรณีของ “ชาล็อต ออสติน” รองอันดับ 5 Miss Grand Thailand 2022 เป็นตัวอย่างของกลโกงมิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกให้เธอยืนยันตัวตนผ่านลิงก์ปลอม ก่อนโอนเงินออกจากบัญชีในไม่กี่นาที ทำให้ สูญ 4 ล้านบาท

ทนายเดชากล่าวว่า แม้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้ธนาคารต้องร่วมรับผิดชอบในกรณีเช่นนี้โดยตรง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาปี 2564 (คำพิพากษาฎีกาที่ 6233/2564) ได้วางแนวทางว่าหากธนาคารให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ ธนาคารอาจต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ทนายเดชาแนะนำว่า ผู้เสียหายสามารถรวมตัวกันฟ้องร้องเพื่อให้ธนาคารรับผิดชอบในลักษณะเดียวกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่มีกฎหมายกำหนดให้ธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องร่วมรับผิดชอบกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงทางออนไลน์

นอกจากนี้ ทนายยังเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการใช้บัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน โดยแนะนำให้เก็บเงินที่ใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ไว้เฉพาะส่วนที่จำเป็น เช่น เพียง 10-20% ของยอดเงินรวมในบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงหากถูกหลอกลวง

ทนายเดชา ยังระบุว่า ช่องโหว่ในระบบและการปรับปรุงกฎหมายในประเทศไทย จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและระบบเทคโนโลยี เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การตรวจสอบเส้นทางเงินจากบัญชีม้า การบังคับใช้มาตรการคัดกรองที่เข้มงวดกับบริษัทโทรคมนาคม และการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อลดช่องว่างที่มิจฉาชีพสามารถใช้เป็นโอกาสในการก่อเหตุ

กรณีนี้ สะท้อนถึงความจำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนจากภัยการเงินในยุคดิจิทัล

 

 

 

ประเภท : อาชญากรรม
แท็ก