“ประเสริฐ”สั่งเข้ม ป้องกัน-ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เผย “คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ” เห็นชอบเดินหน้ามาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” บังคับใช้กฎหมาย จัดการ “เมาแล้วขับ” ขั้นเด็ดขาด
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยมีนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ภายใต้แนวคิด “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ เนื่องจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งกับตัวผู้ดื่มและผู้อื่น จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2567 มาจากการเมาแล้วขับเป็นสาเหตุการตาย อันดับสอง รองจากความเร็ว ส่วนรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ และจากข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กระทรวงสาธารณสุข (PHER plus) พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 (ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2566 – 4 ม.ค. 2567) มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 25,830 ราย และเสียชีวิต 374 ราย สาเหตุจากการดื่มแล้วขับ 4,777 ราย โดยเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 569 ราย
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในปีนี้รัฐบาลได้มีการกำหนดแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยเน้นย้ำมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เตรียมการจัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เด็ดขาด และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท (โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม) รวมไปถึงการคัดกรองผู้ดื่มสุรา ณ ด่านชุมชน เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน และ“ด่านครอบครัว”เน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัว ไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ส่งเสริมบทบาทให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชน ดำเนินการเรียกตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อสกัดกั้นคนเมาที่ผ่านมา ณ ด่านชุมชน ไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น มุ่งเน้นลดอุบัติเหตุทางถนน หากตรวจพบผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนขยายผล ทุกกรณี
“นอกจากนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร/จังหวัด ดำเนินการตามแนวทางฯ ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และมอบหมายอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ