สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน เมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) ที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุของอียิปต์รายงานการค้นพบมาสตาบา (Mastaba) หรือสุสานฝังศพยุคแรกของอียิปต์โบราณ อายุกว่า 4,000 ปี บริเวณแหล่งโบราณคดีซัคคาราทางตอนใต้ของกรุงไคโร
รายงานระบุว่ามาสตาบาที่ทีมนักโบราณคดีฝรั่งเศส-สวิตเซอร์แลนด์เพิ่งค้นพบเป็นของแพทย์หลวงที่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของฟาโรห์เปปิที่ 2 (ราว 2278-2184 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 6 ในยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom)
ทั้งนี้ มาสตาบาเป็นสุสานมาตรฐานในยุคก่อนและต้นราชวงศ์ของอียิปต์ มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาแบน และกำแพงลาดเอียงทำจากหินหรืออิฐโคลน
โมฮาเหม็ด อิสมาอิล คาเล็ด เลขาธิการสภาโบราณคดีสูงสุด (SCA) กล่าวว่าการค้นพบนี้มีความสำคัญเพิ่มเติมต่อประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีซัคคารา เนื่องจากข้อความและภาพวาดบนผนังหลุมศพแสดงแง่มุมใหม่ๆ ของชีวิตประจำวันในยุคอาณาจักรเก่า
การศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ว่ามาสตาบาแห่งนี้อาจถูกบุกปล้นสิ่งของมีค่าตั้งแต่ระยะแรก ส่วนผนังที่มีจารึกแกะสลักเขียนสียังคงอยู่ในสภาพดี และทีมนักโบราณคดียังค้นพบโลงหิน (sarcophagus) โดยคำจารึกบนเพดานหลุมศพและภายในโลงหินแสดงชื่อและตำแหน่งของเจ้าของหลุมศพ