ดร.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงกรณีบริษัท OPPO และ Realme ติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน ซึ่งอาจละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิของผู้บริโภค
ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า ผู้ผลิตและผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมากับอุปกรณ์ หากแอปพลิเคชันไม่สามารถลบได้หรือดึงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม อาจถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้พัฒนาแอปและผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่ใช้ข้อมูลดังกล่าวอาจต้องรับผิดชอบตามกฎหมายร่วมด้วย
ดร.ไพบูลย์ระบุว่า โทรศัพท์มือถือถือเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การติดตั้งแอปพลิเคชันที่ดึงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจละเมิดทั้ง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะหากแอปไม่สามารถลบได้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่มีเจตนาแฝง
ฉะนั้น กฎหมาย PDPA ระบุว่าการเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท สำหรับข้อมูลทั่วไป และสูงสุด 5 ล้านบาท สำหรับข้อมูลอ่อนไหว ส่วนการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผู้กระทำผิดอาจถูกจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ผู้ที่อาจเกี่ยวข้องในการละเมิด ได้แก่ ผู้ผลิตโทรศัพท์ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน ผู้นำเข้าโทรศัพท์ และผู้พัฒนาแอป หากพิสูจน์ได้ว่ามีการดึงข้อมูลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น การให้สินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
ดร.ไพบูลย์ ยังแนะนำผู้ใช้งานที่พบปัญหาสามารถร้องเรียนได้ ที่สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) หรือสำนักงานปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยการเก็บหลักฐาน เช่น ภาพหน้าจอ หรือข้อมูลที่แสดงการละเมิด และควรตรวจสอบเงื่อนไขการใช้งานแอปพลิเคชันให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความสำคัญ ของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในยุคดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค หากพบการละเมิดจริง ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องเผชิญกับบทลงโทษตามกฎหมายที่เข้มงวด