ผศ.(พิเศษ) นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้สัมภาษณ์ในรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 ถึง “โรคข้าวผัด” หรือกลุ่มอาการอาหารเป็นพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus cereus ที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว พาสต้า หรืออาหารที่อุ่นซ้ำและเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เหมาะสม
“โรคข้าวผัด” มีรายงานการพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 1965 ในยุโรป และยังคงพบประปรายในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย การระบาดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวผัด พาสต้า และอาหารที่ไม่ได้เก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม อุณหภูมิระหว่าง 5-60 องศาเซลเซียส คือช่วงที่แบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดี
ในปี 2566 มีกรณีเสียชีวิตจากการรับประทานพาสต้าเหลือเก็บนานถึง 5 วัน แม้จะนำมาอุ่นก่อนรับประทาน ทำให้กลายเป็นกระแสไวรัลใน TikTok และสร้างความกังวลในวงกว้าง
โรคข้าวผัดมีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษทั่วไป ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย โดยพิษจากแบคทีเรียอาจส่งผลทั้งในกระเพาะและลำไส้ ทำให้เกิดการระคายเคืองและเสียสมดุลน้ำในร่างกาย หากอาการรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะช็อกจากการขาดน้ำได้
นพ.พจน์ ระบุว่า ระยะฟักตัวของเชื้อ Bacillus cereus อยู่ที่ประมาณ 1-6 ชั่วโมง และความรุนแรงขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
เพื่อหลีกเลี่ยงโรคดังกล่าว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
1. อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรบริโภคทันทีภายใน 2 ชั่วโมง หากเกิน 4 ชั่วโมง ควรทิ้งทันที
2. อุ่นอาหารให้ทั่วถึงที่อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
3. หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารที่อุ่นซ้ำบ่อยครั้งหรือเก็บในอุณหภูมิห้อง
4. รักษาความสะอาดระหว่างการเตรียมอาหาร โดยล้างวัตถุดิบและภาชนะให้ถูกสุขลักษณะ
แม้ในอากาศเย็น แบคทีเรียยังสามารถเจริญเติบโตได้ หากอุณหภูมิห้องยังอยู่ในช่วง 5-60 องศาเซลเซียส นพ.พจน์ เตือนว่าผู้บริโภคไม่ควรชะล่าใจ โดยเฉพาะอาหารเดลิเวอรี่ที่อาจปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง
นพ.พจน์ เผย หากไม่รักษาหรือปล่อยให้ร่างกายสูญเสียน้ำอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออวัยวะอื่นๆ
นพ.พจน์ ว่า อาการที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และอาการปวดท้องที่มีลักษณะบีบเกร็ง หากมีอาการรุนแรง เช่น อ่อนเพลียหรือถ่ายท้องบ่อยจนร่างกายขาดน้ำ ควรรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการดูแลประคับประคองเพื่อทดแทนเกลือแร่และน้ำที่สูญเสียไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ยกเว้นในกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด
นอกจากนี้ นพ.พจน์ ยังเตือนถึงความเสี่ยงของอาหารประเภทแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน พาสต้า หรือข้าวมันไก่ ที่ถูกทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมงโดยไม่ได้อุ่นซ้ำ หรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านการจัดเก็บและปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ
คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคในหน้าร้อน หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ไม่ได้อุ่นซ้ำหลังทิ้งไว้เกิน 2 ชั่วโมง ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและเตรียมอาหารด้วยน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ไม่ทราบแหล่งที่มา และเลือกน้ำแข็งที่ผลิตในระบบปิดที่มีมาตรฐาน ระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมดิบหรือกึ่งดิบ เช่น ผักสดที่ไม่ได้ล้างอย่างสะอาด
ในช่วงฤดูร้อน แบคทีเรียที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารจะเจริญเติบโตได้ดีเนื่องจากอุณหภูมิสูง รวมถึงการบริโภคน้ำแข็งหรือน้ำเย็นที่อาจปนเปื้อน จึงควรเฝ้าระวังโรคทางเดินอาหารและโรคติดต่ออื่น ๆ ที่เกิดจากอาหารและน้ำดื่ม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างอย่างเคร่งครัด