นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในประเทศไทย โดยการเรียนรู้จากมาตรการที่จีนใช้ในการลดมลพิษ และการพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับไทยในการจัดการฝุ่น PM 2.5
นายสนธิ ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของไทยยังคงรุนแรงและส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาในภาคเกษตรกรรม การเผาป่า ควันจากยานพาหนะ และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรยังคงเลือกใช้วิธีเผาฟางข้าวและไร่อ้อย เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกและต้นทุนต่ำ แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมาก
ฉะนั้น รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้เงินสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาทแก่เกษตรกรที่ไม่เผา และการตัดสิทธิ์เยียวยาเกษตรกรที่ฝ่าฝืน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผา แต่ในทางปฏิบัติ มาตรการเหล่านี้ยังคงมีช่องว่าง เช่น การปรับเพียง 500 บาทในบางพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นายสนธิ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับจีน ประเทศนี้สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จด้วยมาตรการที่เข้มงวดและชัดเจน จีนปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงาน โดยย้ายโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลออกนอกเมืองใหญ่ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น การเปลี่ยนรถแท็กซี่และรถโดยสารทั้งหมดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและตั้งหน่วยตำรวจสิ่งแวดล้อมเพื่อตรวจสอบมลพิษและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด
นายสนธิ เผยว่าไทยสามารถเรียนรู้จากจีนได้ แต่ต้องแก้ปัญหาจุดอ่อน เช่น ปัญหาการบูรณาการ และมอบอำนาจให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นยังไม่ชัดเจน เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการ นอกจากนี้ ฝุ่นที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นอีกปัจจัยที่กระทบต่อสถานการณ์ฝุ่นในไทย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ การจัดการกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ในอนาคตจะมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่ยังมีความกังวลเรื่องความล่าช้าและความไม่ชัดเจนของแผนปฏิบัติการ
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในไทยต้องอาศัยความจริงจังและต่อเนื่องจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยตั้งคำถามสำคัญว่า ไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการพูดถึงในช่วงที่ปัญหารุนแรงเท่านั้น