งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Medicine ระบุว่า ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกกำลังรุกล้ำเข้าสู่สมองมนุษย์ โดยพบปริมาณพลาสติกสะสมในสมองสูงกว่าตับและไตถึง 7-30 เท่า และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว
ไมโครพลาสติกคืออนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร หรือเล็กกว่ายางลบที่ปลายดินสอ ส่วนนาโนพลาสติกมีขนาดเล็กยิ่งกว่า โดยมีความกว้างเพียงเศษเสี้ยวของเส้นผมมนุษย์
นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างสมองมนุษย์ที่ถูกชันสูตร 52 ตัวอย่าง (28 ตัวอย่างจากปี 2016 และ 24 ตัวอย่างจากปี 2024) พร้อมตรวจสอบตับและไตจากร่างกายเดียวกัน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์และการวิเคราะห์โมเลกุล พบว่า ตัวอย่างสมองและตับจากปี 2024 มีไมโครพลาสติกสะสมเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2016
แมทธิว แคมเพน (Matthew Campen) จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก เปิดเผยว่า ปริมาณพลาสติกในสมองของคนทั่วไปที่อายุเฉลี่ย 45-50 ปี อาจเทียบเท่ากับช้อน 1 คัน หรือคิดเป็น 0.48% ของน้ำหนักสมอง โดยโพลีเอทิลีน ซึ่งมักใช้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถูกพบมากที่สุดในตัวอย่างเนื้อเยื่อ
การตรวจสมองผู้ป่วยสมองเสื่อม 12 ราย พบว่ามีไมโครพลาสติกสะสมมากกว่าสมองปกติถึง 3-5 เท่า ซึ่งทำให้นักวิจัยกังวลว่าอนุภาคเหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพทางสมองในอนาคต
“ความเข้มข้นที่เราพบในเนื้อเยื่อสมองของคนทั่วไป ซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45 หรือ 50 ปี อยู่ที่ 4,800 ไมโครกรัมต่อกรัม หรือคิดเป็น 0.48% ของน้ำหนักสมอง” แมทธิว แคมเพน (Matthew Campen) ผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก (University of New Mexico) กล่าวว่า ปริมาณพลาสติกที่พบในร่างกายนั้น อาจเทียบเท่ากับช้อนขนาดมาตรฐาน 1 คัน
ริชาร์ด ทอมป์สัน (Richard Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติกจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ระบุว่า ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และอากาศ ก่อนเข้าสู่ร่างกายและสะสมในอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ เลือด รก และแม้แต่หลอดเลือดแดงที่ไปยังหัวใจ
คำถามสำคัญที่นักวิจัยยังต้องหาคำตอบคือ พลาสติกเหล่านี้เข้าสู่สมองได้อย่างไร และสามารถกำจัดออกจากร่างกายได้หรือไม่ แม้ยังไม่ทราบผลกระทบต่อสุขภาพที่แน่ชัด แต่แอนดรูว์ เวสต์ (Andrew West) ผู้ร่วมวิจัยย้ำว่า การแก้ปัญหาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วน