จีนรุกปราบแก๊งคอลเซนเตอร์ ไทยเสี่ยงเสียอธิปไตยชายแดน?

wewy (5)-min

สถานการณ์แก๊งคอลเซนเตอร์ที่ใช้เมียนมาเป็นฐานปฏิบัติการกำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิภาค โดยเฉพาะบทบาทของจีนที่เข้ามาแทรกแซงอย่างชัดเจน ล่าสุด “หลิว จงอี” เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจีน ได้ปฏิบัติการในเมียนมาเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่เดินทางกลับจีน สะท้อนให้เห็นถึงการมีอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อดุลอำนาจในภูมิภาค

ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่น MCOT NEWS FM100.5 ว่าการเคลื่อนไหวของจีนอาจเป็นผลจากการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์ แม้ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาอาชญากรรม แต่หากจีนมีบทบาทมากเกินไป ไทยอาจสูญเสียอิสระในการกำหนดนโยบายบริหารชายแดน ซึ่งอาจนำไปสู่การควบคุมและชี้นำโดยจีนมากขึ้น

จีนให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน โดยเฉพาะเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดร.ดุลยภาคชี้ให้เห็นว่า กรณี “หน่อคำ” อาชญากรข้ามชาติในแม่น้ำโขง ทำให้จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทเชิงรุกในการรักษาความปลอดภัยในลุ่มน้ำโขง โดยร่วมมือกับลาวและเมียนมา ซึ่งจีนอาจนำแนวทางเดียวกันมาใช้กับชายแดนไทย-เมียนมา เช่น การลาดตระเวนควบคุมอาชญากรรม ซึ่งไทยต้องระวังไม่ให้จีนมีบทบาทเหนือกว่าจนกลายเป็นผู้ชี้นำกลไกความมั่นคงทั้งหมด

ดร.ดุลยภาค มองว่าไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ไม่พึ่งจีนมากเกินไป มีข้อกังวลว่า การที่จีนต้องเข้ามาจัดการปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์สะท้อนถึงความล้มเหลวของไทยในการควบคุมอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่ ดร.ดุลยภาคระบุว่า ไทยและจีนมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน จีนใช้แนวทางเด็ดขาด เร็ว และตรงไปตรงมา ไทยเน้นการประสานงานและคำนึงถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และความเชี่ยวชาญในพื้นที่ หากสามารถใช้จุดแข็งเหล่านี้ควบคู่กับความร่วมมือจีนในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ไทยรักษาอำนาจการต่อรองในเวทีภูมิภาค

นอกจากนี้ยังเสนอว่าไทยควรใช้เวทีอาเซียน (ASEAN) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ควรปล่อยให้จีนเป็นผู้ดำเนินการหลักฝ่ายเดียว

ดร.ดุลยภาคเสนอว่า ไทยควรเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยไทยต้องไม่โยนอำนาจให้จีนแม้ว่าความร่วมมือกับจีนจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไทยต้องไม่ให้จีนเป็นผู้กำหนดทุกด้าน เพราะอาจกระทบต่ออธิปไตยไทยในระยะยาว หากจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไทยอาจเสียอำนาจในการ

ขณะนี้ มีแรงกดดันจากประชาชนที่ตั้งคำถามว่า ไทยสามารถรักษาอธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์ ทหารกัมพูชาเข้ามาฝึกในไทย หรือเหตุการณ์ของชาวอิสราเอลในพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งสร้างความกังวลว่าไทยกำลังสูญเสียพื้นที่อำนาจให้ต่างชาติ

ดร.ดุลยภาคสรุปว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบัน แต่เป็นผลจากนโยบายชายแดนที่สะสมมานาน ไทยจึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการตั้งรับเป็นเชิงรุก สร้างเขตอิทธิพลของตนเองในพื้นที่ชายแดน ไม่ปล่อยให้จีนเป็นผู้ควบคุมกลไกความมั่นคงทั้งหมด การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยให้ไทยรักษาอธิปไตยและอำนาจต่อรองในเวทีภูมิภาค ไม่ใช่แค่รอให้มหาอำนาจมากำหนดแนวทางแทน

ส่วนปัญหาการล่วงล้ำเขตแดนโดยกลุ่มว้าแดง (UWSA) และกองกำลังอื่นในภาคเหนือกำลังเป็นประเด็นร้อน โดยเฉพาะการตั้งฐานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุหลาบน้ำดัง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยอย่างชัดเจนไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเรื่องชายแดนโดยตรง ต่างจากมาเลเซียที่มีสำนักงานป้องกันชายแดน หรือเมียนมาที่มีกระทรวงกิจการชายแดน ทำให้การทำงานของไทยกระจัดกระจายและขาดเอกภาพ

เศรษฐกิจสีเทาเป็นภัยต่ออธิปไตย?

ธุรกิจสีเทาของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและกัมพูชา เช่น การพนันออนไลน์และแก๊งคอลเซนเตอร์ ส่งผลกระทบต่อไทยและประชาชนในหลายประเทศทั่วโลก แม้จะเริ่มมีการกวาดล้าง แต่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เฉพาะแนวแม่น้ำเมย จังหวัดตาก มีจุดข้ามแดนผิดกฎหมายมากถึง 59 จุด ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ไทยต้องเข้มแข็ง ไม่ปล่อยให้จีนกำหนดทิศทาง การรักษาอธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องการค้าและเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง หากไทยไม่ดำเนินมาตรการที่เข้มแข็ง ปัญหาเหล่านี้อาจลุกลามและกลายเป็นวิกฤติในอนาคต

 

ประเภท : อาชญากรรม
แท็ก