สส.พรรคประชาชน-เครือข่ายแรงงาน ผิดหวัง นายกฯปัดตก กม.บำนาญ-สหภาพ ชี้เมินสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ja(212)

 

นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชนและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน แถลงข่าวแสดงความผิดหวังหลังนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ปัดตกร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ฉบับที่เสนอโดยอดีตพรรคก้าวไกล

โดยนายเซีย กล่าวว่า ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เรื่องบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าและสิทธิในการรวมตัวตั้งสหภาพแรงงาน เป็นนโยบายที่ประชาชนให้การตอบรับ อดีตพรรคก้าวไกลจึงผลักดันเป็นร่างกฎหมายยื่นต่อสภาฯ และเพราะร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายด้านการเงิน จึงจำเป็นต้องส่งให้นายกฯ รับรองก่อน โดยใช้เวลาเกือบ 2 ปีจึงได้รับแจ้งว่านายกฯ ไม่เซ็นรับรองกฎหมายทั้งสองฉบับ
.
ตนมองว่าการที่นายกฯ ไม่เห็นชอบต่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่เพียงเป็นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่เป็นการตอกย้ำว่าแรงงานหรือคนทำงานในประเทศนี้ ยังถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือของระบบเศรษฐกิจโดยไม่มองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ อีกทั้งเสียดายโอกาสที่จะเกิดก้าวย่างสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุในประเทศไทย
.“ผมในฐานะผู้แทนราษฎร อดีตผู้ใช้แรงงาน เสียดายโอกาสของคนทำงานหลากหลายอาชีพที่สร้างชาติสร้างเศรษฐกิจ เสียดายความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไป คนทำงานเป็นทั้งผู้ผลิตและลมหายใจของเศรษฐกิจไทย ทำงานหนักมาทั้งชีวิตแต่บั้นปลายกลับไร้หลักประกัน” เซียกล่าว.เซียกล่าวว่า ตนและพรรคประชาชนจะไม่ยอมให้เสียงเรียกร้องของคนทำงานต้องเงียบหายไปท่ามกลางการเอื้อประโยชน์ของกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจ เพราะคนทำงานคือรากฐานของชาติแต่กลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ก็ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นกลไกที่จำเป็นในการสร้างความเป็นธรรมแก่การทำงาน ทำให้คนทำงานมีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตน

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน กล่าวว่า ภาคประชาชนเรียกร้องกฎหมายบำนาญถ้วนหน้า ตามเส้นความยากจน 3,000 บาท ให้มนุษย์ดำรงชีวิตตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่านั้น แม้งบประมาณจะสูงในการดำเนินการ แต่หากประเทศโปร่งใส มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถจัดบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงอายุได้ โดยปัจจุบันเหลือกฎหมายอีก 1 ฉ​บับคือร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อกว่า 40,000 รายชื่อ รอการรับรองจากนายกฯ เช่นกัน

“ประเทศไทยต้องหวังพึ่งแรงงาน แต่สิทธิในการรวมตัวต่อรองกลับถูกปิดกั้น แม้แต่จะได้เป็นกฎหมายมาถกเถียงกันในสภายังเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราจะไม่ย่อท้อ และหวังว่ากฎหมายบำนาญถ้วนหน้าอีก 1 ฉบับ จะไม่ถูกปัดตกอีก” ธนพรกล่าว

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก