สงครามยูเครนใกล้จบ? ยุโรป-สหรัฐฯ เตรียมแผนยุติสงครามใหญ่

wewy (1)-min

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรายการ Good Morning ASEAN ช่วงเจาะลึกอาเซียน MCOT NEWS FM 100.5 และมุมมองต่อการประชุมพิเศษของสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับยูเครนในปีหน้า ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ยุโรปจะสามารถเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในการจัดการกับสถานการณ์นี้ได้หรือไม่

ดร.ปณิธานชี้ว่า ยุโรปอาจจะต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถแทนที่สหรัฐฯ ได้ทั้งหมด เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการกดดันยุโรปในหลายๆ ด้าน และล่าสุด ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและอังกฤษได้พูดถึงการวางกำลังทหารร่วมกันประมาณ 30,000 นายเพื่อรักษาสันติภาพในยูเครน โดยรัสเซียตอบตกลงในเรื่องนี้ แต่ไม่ให้กำลังไปใกล้ชายแดนของรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลจากฝั่งยูเครนที่รู้สึกไม่ได้รับการรับประกันความปลอดภัยที่ชัดเจน และยังไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการยุติความเสียหายจากสงคราม ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็มีการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และในสหประชาชาติก็มีการเสนอให้ประณามรัสเซีย ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงคัดค้านในบางประเด็น

ปณิธานกล่าวว่า แม้สถานการณ์ในยูเครนจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่การเจรจายังไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยสมบูรณ์ และในเรื่องของการช่วยเหลือยูเครน หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป ยุโรปอาจเผชิญปัญหาด้านการขาดแคลนอุปกรณ์ทหาร ซึ่งต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ต่อไปในระยะยาว

ในส่วนของการเจรจากับรัสเซีย ดร.ปณิธานมองว่า สหรัฐฯ พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเปิดโอกาสให้รัสเซียออกจากการคว่ำบาตรและเสนอให้มีการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนเรื่องของการขยายสมาชิกของ NATO ที่มีการละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ในอดีต ดร.ปณิธานมองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะลดจำนวนสมาชิกหรือลดบทบาทของบางประเทศ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในระยะยาว แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

การเจรจาและความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ, รัสเซีย และจีนถือเป็นเรื่องที่ดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจอาจยังคงดำเนินต่อไป และหลายประเทศอาจต้องพัฒนานโยบายที่เป็นอิสระจากการครอบงำของมหาอำนาจเหล่านี้

สุดท้าย ดร.ปณิธานระบุว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และโครงสร้างทางการเมืองที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ทำให้สหรัฐฯ บอกว่าที่สุดแล้วก็คงเข้าสู่สงครามโลก ครั้งที่ 3 อยู่ดี เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้ช้าลงหรือว่าไม่เกิดขึ้นในสมัยของ ประธานาธิบดีทรัมป์

 

ประเภท : ต่างประเทศ
แท็ก