ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศคือต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ สสส. มุ่งขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) จากแนวคิดที่มีต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เน้นสร้างความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ต้นทาง
“ที่ผ่านมา โครงการในระยะที่ 1 นำร่องในพื้นที่เขตปทุมวัน พัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง 1.ระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน 2.บริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่ 3.ระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 ที่แสดงผลทันที ถือเป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วมลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด บำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนด กลายเป็นถนนอากาศสะอาดลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า โครงการในระยะที่ 2 เร่งขยายผลเพิ่ม 4 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด (ระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) ได้แก่ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก คาดเกิดผู้ประกอบการต้นแบบลดมลพิษทางอากาศเพิ่ม 100 องค์กร ภายในปี 2567 ถือเป็นมาตรการสานพลังทุกภาคส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้น
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการ ศวอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ LEZ เกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการภาคเอกชนในพื้นที่เขตปทุมวัน บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เกิดระยะทางถนนอากาศสะอาดกว่า 1 กม. โดยมีแนวทางลดมลพิษอากาศ 5 ด้าน 1.นโยบายองค์กร 2.การลดมลพิษอากาศขององค์กรและบุคลากรในองค์กร 3.การลดมลพิษจากไอเสียรถของซัพพลายเออร์ 4.การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า 5.การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูล มีผู้ประกอบการต้นแบบในการลดมลพิษทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ 8 องค์กร ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 มี.ค. ถึง 3 เม.ย. 2567 จะมีการจัดงาน The Air We Share เปิดพื้นที่เสวนาทางวิชาการ นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะ พร้อม Mini workshop บอร์ดเกม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 ผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “รู้ทันฝุ่น”
ว่าที่ ร.ต.วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 มคก.ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 37.5 มคก.ลบ.ม.) เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก 1.การจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง 2.การเผาไหม้ในที่โล่ง โครงการ LEZ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เกิดพื้นที่นำร่องเขตปทุมวัน ที่สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมพัฒนานวัตกรรมแนวทางลดมลพิษอากาศที่ต้นทางสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ สอดคล้องตามแผนการลดฝุ่น 365 วัน ปี 2567 ของ กทม.