DNA ยืนยัน “แมวจรจัด” ภัยคุกคาม “สัตว์พื้นเมือง” ในออสเตรเลีย
สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน วารสารออสเตรเลียน แมมมาโลจี (Australian Mammalogy) เผยแพร่ผลการศึกษาฉบับใหม่จากคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ในนครซิดนีย์ ซึ่งพบผลตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าแมวจรจัด (feral cat) เป็นนักล่าตัวฉกาจที่สังหารสัตว์พื้นเมืองที่ถูกปล่อยสู่พื้นที่อนุรักษ์ในออสเตรเลียมากกว่าสัตว์จรจัดชนิดอื่นๆ
คณะนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าผลกระทบจากสัตว์จรจัดนักล่าเหล่านี้ต่อสัตว์ป่าพื้นเมืองมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ โดยแคทเธอรีน โมสบี ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษา อธิบายว่าการบ่งชี้สาเหตุการตายที่ชัดเจนของสัตว์ที่ถูกปล่อยคืนธรรมชาติเป็นเรื่องท้าทาย หลักฐานภาคสนามอย่างรอยเท้าสัตว์หรือรอยกัดมักเป็นการเดาสุ่ม ขณะการตรวจดีเอ็นเอมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
การศึกษานี้มุ่งเน้นเขตอนุรักษ์ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย จำนวน 2 แห่ง ซึ่งมีการปล่อยสัตว์พื้นเมือง 389 ตัว เช่น คอมมอนบรัชเทลพอสซัม (brush-tailed possums) ควอลตะวันตก (western quolls) บิลบีใหญ่ (greater bilbies) และเบตตอง (bettongs) คืนสู่ธรรมชาติ โดยสัตว์ 74 ตัว ถูกแมวจรจัดฆ่าตาย ซึ่งร้อยละ 96 ของสัตว์ที่ตายได้รับการยืนยันผ่านการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ
หลักฐานภาคสนามเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นตัวบ่งชี้การล่าเหยื่อของแมวจรจัด การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอและผลชันสูตรซากจึงสำคัญต่อการระบุสาเหตุการตายอย่างแม่นยำ โดยแม้บางครั้งการตรวจดีเอ็นเออาจประเมินจำนวนสัตว์ที่ถูกแมวจรจัดฆ่าต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วของดีเอ็นเอ แต่ยังคงเผยจำนวนสัตว์ที่ถูกแมวจรจัดฆ่า สูงกว่าที่เคยเชื่อกัน
แม้มีการค้นพบเหล่านี้ แต่คณะนักวิจัยเตือนว่าการควบคุมแมวจรจัดยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ โดยโมสบีกระตุ้นเตือนบรรดานักอนุรักษ์ใช้การตรวจดีเอ็นเอและการชันสูตรซากในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติเพื่อประเมินการถูกล่าอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และผลักดันมาตรการควบคุมแมวจรจัดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นด้วย