นักวิจัยอังกฤษเผยผลวิจัยชิ้นใหม่ เตือนผู้ส่งสารคิดให้ดีก่อนใช้อีโมจิแทนการพิมพ์ข้อความ เพราะอาจจะทำให้การสื่อความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้
โดยผลการวิจัยชี้ว่า เพศ อายุ รวมทั้งพื้นเพที่ต่างกัน ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การตีความอีโมจิมีความแตกต่างกันออกไป
ดังนั้นคนที่นิยมใช้รูปสัญลักษณ์อีโมจิแสดงอารมณ์แทนการพิมพ์คำพูดในโลกโซเชียล อาจจะต้องเลือกใช้สัญลักษณ์เหล่านี้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ
การส่งข้อความโดยใช้อีโมจิเป็นเรื่องปกติที่หลายคนใช้อยู่เป็นประจำ และกลายเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารออนไลน์ทั่วโลก โดยบางคนถึงขั้นขี้เกียจพิมพ์ข้อความ และเลือกใช้สัญลักษณ์อีโมจิแทนไปเลย แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าอีโมจิดังกล่าว จะสื่อสารสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไปยังผู้รับสารได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของอังกฤษ ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ ทั้งชาวอังกฤษและชาวจีน และพบว่าอีโมจิที่เราคิดว่าเป็นการสื่อความหมายสากล บางครั้งอาจจะถูกตีความหมายต่างกันในความคิดของผู้รับจากคนละประเทศ นอกจากนี้เพศที่ต่างกัน อายุที่ต่างกัน และพื้นเพวัฒนธรรมที่ต่างกัน ก็ยังส่งผลให้การตีความอีโมจิแตกต่างกันอีกด้วยโดยการวิจัยครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้คัดเลือกผู้ใหญ่จำนวน 523 คน แบ่งเป็น ชาย 49% และหญิง 51% โดยเป็นชาวจีน 253 คน และชาวอังกฤษ 270 คน อายุระหว่าง 18-84 ปี ให้ประเมินอีโมจิ 24 อัน โดยอีโมจิแต่ละอันมาจากแพลตฟอร์ม Apple, Windows, Android และ WeChat ซึ่งแสดงอารมณ์ 6 แบบที่ทีมกำหนดไว้ ได้แก่ มีความสุข รังเกียจ กลัว เศร้า ประหลาดใจ และโกรธ
ผลการวิจัยชี้ว่า ผู้ส่งข้อความชาวจีนมักจะเลือกใช้อีโมจิรูปหน้ายิ้ม เพื่อสื่อความหมายเชิงลบ เช่น การเสียดสี หรือยินยอมแบบไม่เต็มใจได้ด้วย ดังนั้น ผู้ใช้ชาวจีนจึงมีแนวโน้มที่จะระบุอีโมจิยิ้มว่ามีความสุขน้อยกว่าผู้ใช้ชาวอังกฤษนอกจากนี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ยังพบด้วยว่า ความสัมพันธ์ของอายุและวัฒนธรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตีความการใช้อีโมจิที่แตกต่างกันออกไป โดยนักวิจัยได้ตรวจสอบว่าผู้เข้าร่วมวิจัย ตีความความหมายของอีโมจิสอดคล้องกับฉลากที่ทีมกำหนดไว้บ่อยเพียงใด ซึ่งพบว่าผู้ร่วมทดลองสูงวัย จะเข้าใจในความหมายของอีโมจิ ประหลาดใจ หวาดกลัว เศร้า และโกรธ ได้น้อยกว่ากลุ่มช่วงวัยอื่นๆ
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบเพศชายและเพศหญิง พบว่ากลุ่มผู้ร่วมทดลองเพศหญิงจะเข้าใจความหมายของอีโมจิต่างๆ ได้ดีกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอีโมจิ ความสุข ความกลัว ความเศร้า และอารมณ์โกรธ แต่ไม่พบการตีความที่แตกต่างกันระหว่างทั้ง 2 เพศ กับอีโมจิที่แสดงความประหลาดใจ หรือรังเกียจ
นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่าผู้ร่วมทดลองชาวอังกฤษ จะเข้าใจความหมายของอีโมจิ มีความสุข กลัว เศร้า โกรธ ประหลาดใจ ได้ชัดเจนกว่าชาวจีน โดยมีเพียงอีโมจิ รังเกียจที่ชาวจีนตีความได้ถูกต้อง
รูธ ฟิลิก รองศาสตราจารย์ประจำคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ผู้นำงานวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า กุญแจสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่าแต่ละบุคคลจะมีการตีความอีโมจิเดียวกันแตกต่างกันออกไป ซึ่งผลวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งสาร ที่ต้องรอบคอบในการเลือกใช้อีโมจิในการสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางด้านเพศ วัย และแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ขณะเดียวกันงานวิจัยนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการโฆษณาทางดิจิทัล เพื่อจุดประสงค์ในการทำการตลาดสำหรับชาติต่างๆ ด้วย.