สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงานเมื่อวันพุธ (19 มี.ค.) ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยแผนเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมด้านทหารและลดการพึ่งพาพันธมิตรนอกสหภาพยุโรป ท่ามกลางความกังวลถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ ต่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ในอนาคต
แถลงการณ์จากเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่าโครงสร้างความมั่นคงที่เราเคยพึ่งพานั้นไม่สามารถยึดถือเป็นสิ่งที่แน่นอนได้อีกต่อไป ยุโรปต้องลงทุนในด้านกลาโหม เสริมแกร่งขีดความสามารถของเรา และดำเนินมาตรการเชิงรุกในด้านความมั่นคง
หัวใจสำคัญของแผนการข้างต้นคือสมุดปกขาวว่าด้วยการเตรียมความพร้อมด้านกลาโหมของยุโรป ปี 2030 และชุดมาตรการด้านกลาโหมที่มอบเครื่องมือทางการเงินให้แก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อกระตุ้นการลงทุนในขีดความสามารถกลาโหม โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรีอาร์ม ยุโรป/เรดิเนส (ReArm Europe/Readiness) ปี 2030
สมุดปกขาวฉบับนี้กำหนดลำดับความสำคัญหลัก อาทิ การแก้ไขช่องว่างด้านกลาโหม และการเสริมสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันของยุโรปผ่านการเพิ่มความร่วมมือการจัดซื้อร่วมกัน อีกทั้งเน้นย้ำความจำเป็นในการเพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน และขยายตลาดอุตสาหกรรมการป้องกันของสหภาพยุโรปโดยการปรับปรุงข้อบังคับให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปัจจุบันสมาชิกอียูใช้ระบบอาวุธที่หลากหลาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและการทำงานร่วมกัน
คณะกรรมาธิการยุโรปกำหนดขอบเขตความยืดหยุ่นทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายด้านกลาโหมภายใต้แผนการรีอาร์ม ยุโรป/เรดิเนส ปี 2030 โดยจำกัดความเบี่ยงเบนทางการเงินของสมาชิกอียูไม่ให้เกินร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อปี เป็นระยะเวลาสูงสุด 4 ปี ในช่วงที่มีการใช้มาตรการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ทางการคลัง
ช่วงก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ฟอน เดอร์ ลาเยนเปิดเผยแผนการระดมทุนเพื่อเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมทั่วสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่า 8 แสนล้านยูโร (ราว 29.3 ล้านล้านบาท) แผนการดังกล่าวกำหนดโครงการเงินกู้มูลค่า 1.5 แสนล้านยูโร (ราว 5.5 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยให้สมาชิกอียูลงทุนในสินทรัพย์ด้านการทหารที่สำคัญร่วมกัน ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปมีเป้าหมายที่จะระดมเงินเพิ่มเติมอีก 6.5 แสนล้านยูโร (ราว 23.8 ล้านล้านบาท)