ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าแผนปฏิรูประบบการศึกษาของสหรัฐฯ ด้วยการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร สั่งการให้ลินดา แมคมาห์น รัฐมนตรีศึกษาธิการ ดำเนินมาตรการเพื่อปิดกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้คืนอำนาจการศึกษากลับไปสู่แต่ละรัฐ ทรัมป์ให้เหตุผลว่าการที่รัฐบาลกลางเข้ามาควบคุมระบบการศึกษานั้นไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ โดยระบุว่ากระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1979 แต่กลับไม่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนได้ โดยวัดจากคะแนนสอบมาตรฐานที่แทบไม่มีการพัฒนา
แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางของการยุบกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงจะหายไปทั้งหมด เพราะยังคงให้หน่วยงานบางส่วนทำงานต่อไป โดยเฉพาะด้านการดูแลเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังต้องดำเนินการต่อเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการดูแลโรงเรียนรัฐบาลกว่า 100,000 แห่ง และโรงเรียนเอกชนอีก 34,000 แห่ง โดยงบประมาณส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 85 มาจากรัฐและท้องถิ่น ซึ่งทรัมป์มองว่าหากคืนอำนาจให้รัฐ จะช่วยให้การศึกษาเข้าถึงประชาชนได้ดีขึ้นและลดภาระของรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม คำสั่งของทรัมป์ยังต้องผ่านด่านสำคัญ คือการพิจารณาของสภาคองเกรส หากต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการถูกยุบจริง จะต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย 60 เสียงจากทั้งหมด 100 เสียง แต่ปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองที่นั่งเพียง 53 เสียง ทำให้ต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตอย่างน้อย 7 เสียง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคใหญ่ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตคนใดแสดงท่าทีสนับสนุน
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านเริ่มเคลื่อนไหวทันที โดยอัยการสูงสุดจาก 20 รัฐ และเขตปกครองพิเศษกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในนครบอสตัน เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการปิดกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เหตุผลว่าอาจส่งผลกระทบต่อระบบงบประมาณที่สนับสนุนโรงเรียน ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะงบประมาณช่วยเหลือโรงเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา รวมถึงเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้ปกครองทั่วประเทศต่างแสดงความกังวลว่าหากกระทรวงถูกปิดจริง อาจทำให้โรงเรียนต้องเผชิญกับปัญหาการจัดสรรงบประมาณและความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางที่อาจไม่เพียงพอ
ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดนี้มาก่อนในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่ไม่ได้รับการดำเนินการจากสภาคองเกรส ครั้งนี้จึงต้องจับตาดูว่าคำสั่งฝ่ายบริหารที่ออกมาจะได้รับแรงหนุนเพียงพอหรือไม่ หรือสุดท้ายจะถูกคัดค้านจนต้องพับแผนไปอีกครั้ง