พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงข่าวปฏิบัติการ “สยบนาคี” จับกุมแพทย์ พยาบาล ทหาร และพวก ฐานทุจริตยาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังปฏิบัติการตรวจค้น 17 จุด จับกุมผู้ต้องหา 8 คน และตรวจค้นร้านยาต้องสงสัยอีก 11 จุด
ก่อนแถลงข่าว เจ้าหน้าที่นำของกลางมาแสดง ซึ่งรวมถึงกล่องบรรจุยา เงินสด 10.9 ล้านบาท โฉนดที่ดินจากบ้านพักซอยแสงจันทร์ เขตคลองเตย ถุงซิปล็อกใส่ยาที่มีการแกะฉลาก สมุดบัญชี ถุงพลาสติกสีฟ้าที่ใช้บรรจุยาก่อนส่งต่อไปจังหวัดปราจีนบุรี และยาป้องกันลิ่มเลือด Pradaxa
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลของคุณพัชนีย์ ซึ่งแจ้งเบาะแสพร้อมหลักฐาน ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงมอบโล่เชิดชูเกียรติให้ ขณะที่ผู้ต้องหาชุดนี้เป็นเพียงกลุ่มแรก ยังมีกลุ่มอื่นที่ใช้แผนทุจริตลักษณะเดียวกัน ตำรวจอยู่ระหว่างขยายผลร่วมกับกรมบัญชีกลาง และเตือนผู้เกี่ยวข้องให้มามอบตัวก่อนถูกออกหมายจับ
พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการ ปปป. กล่าวว่าหลังเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลในเดือนกุมภาพันธ์ ตำรวจได้สืบสวนและขอหมายจับผู้ต้องหา 8 ราย อีก 4 ราย ถูกเรียกรับทราบข้อกล่าวหา
พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ ประทุมราช ผกก.1 ปปป. อธิบายว่าขบวนการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น แพทย์หญิงผู้สั่งจ่ายยา และกลุ่มสนับสนุน เช่น พ.อ.หญิง ผู้จัดหาคนเบิกยา โดยมีแม่ทีม 6 ทีม รวม 600 คนจากลพบุรี ขึ้นรถตู้มาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ได้ค่าตอบแทน 1,000 บาทต่อหัวครั้งแรก และครั้งต่อไป 500 บาท พร้อมส่วนแบ่ง 10% ของค่ายาที่เบิก แม่ทีมได้ค่าหัว 1,500 บาท
ยาที่ได้จะถูกรวมที่ปั๊มน้ำมันข้างโรงพยาบาล ก่อนส่งไปพักที่ที่พักย่านเกียกกายและคอนโดย่านพระราม 4 ของ พ.อ.หญิง จากนั้นรถแท็กซี่จะนำยาไปส่งนายสมปราชที่ปราจีนบุรี ก่อนส่งกลับมากรุงเทพฯ ให้สุรีย์และสมพงษ์ กระจายไปยังร้านยา จากการตรวจค้นปราจีนบุรี พบถุงสีฟ้าบรรจุยา ตรงกับที่พบในคอนโดพระโขนงและพระราม 4
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการ อย. ระบุว่าจากการตรวจสอบร้านยา 11 ร้าน พบว่า 5 ร้านดำเนินการถูกต้อง แต่อีก 6 ร้านเสี่ยงรับยาจากแหล่งผิดกฎหมาย บางร้านขายยาควบคุมโดยไม่มีเภสัชกรอยู่ 1 ร้านไม่มีใบอนุญาตและเปิดแบบปิดมิดชิด
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่ากรณีนี้แตกต่างจากการเบิกจ่ายผิดประเภททั่วไป เพราะเริ่มจากตัวแพทย์เอง โดยแพทย์หญิงรายนี้สั่งจ่ายยามูลค่า 84.7 ล้านบาท ในช่วงปี 2560-2567 คิดเป็น 28.72% ของแพทย์ทั้งหมดในโรงพยาบาลกว่า 100 คน กรมบัญชีกลางจึงต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อตรวจสอบว่ามีขบวนการแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกหรือไม่
พล.อ.เดชนิธิศ เหลืองงามขำ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง พบความผิดปกติในงบการเงินของโรงพยาบาลและชื่อซ้ำกันในรายชื่อผู้ป่วย แพทย์ที่จ่ายยาก็เป็นคนเดิม จึงเข้มงวดกับการเบิกจ่าย ส่งผลให้งบโรงพยาบาลกลับมามีกำไร 70 ล้านบาท และจะร่วมมือกับกรมบัญชีกลางเพื่อป้องกันไม่ให้เงินภาษีรั่วไหลอีก
นายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า คดีนี้เป็นครั้งแรกที่ขบวนการทุจริตยาใหญ่ขนาดนี้ถูกเปิดโปง โดย ป.ป.ท. จะดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา
นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า จะเสนอคณะกรรมการธุรกรรมให้ตรวจสอบเชิงลึก และหากพบว่ามีความผิดฐานฟอกเงินก็จะดำเนินคดีต่อไป
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. ยืนยันว่าการดำเนินคดีเครือข่ายนี้ครบทั้ง 12 คนแล้ว และทั้งหมดให้การปฏิเสธ นายสมปราช ซึ่งถูกจับกุมที่ปราจีนบุรี ยอมรับพฤติการณ์แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยเขารู้จักสุรีย์ผ่านโซเชียลและค้าขายยากันมา 6-7 ปี
พ.ต.ท.สิริพงษ์ อธิบายว่าขบวนการนี้เน้นยานอกบัญชีที่มีราคาสูงกว่า 90% ทำให้ส่วนต่างกำไรสูงถึง 2-10 เท่า เพราะต้นทุนยาแทบไม่มี ทุกบัตรประชาชนที่ใช้เบิก กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายเงิน ยาที่พบมากที่สุดในคดีนี้คือยาลดไขมันในเลือด ราคากล่องละเกือบ 1,000 บาท ต้นทุนเม็ดละ 3 บาท แต่ขายปลีก 20-21 บาท ทำให้รัฐเสียหายกว่า 50-60 ล้านบาท
หลักฐานสำคัญในคดีนี้ได้แก่ การใช้ดุลพินิจผิดปกติ เวชระเบียนปลอม หลักฐานเส้นทางการเงิน และจำนวนผู้ป่วยที่แพทย์หญิงรายนี้ดูแลถึง 2,000 กว่าคนต่อปี โดยคนกลุ่มนี้จะเข้ามาเบิกยา 4 ครั้งต่อปี รวมเป็นหมื่นครั้ง ซึ่งผิดปกติอย่างชัดเจน