กยศ. เผยผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 5,000 ราย โดยผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดทันทีหลังลูกหนี้ทำสัญญา พร้อมถอนการบังคับคดีผู้ค้ำประกันทุกรายที่ผู้กู้ยืมปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยืนยันทุกคนจะได้รับสิทธิ์ตามกฎหมาย
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 5,000 ราย โดยผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นความรับผิดทันทีหลังลูกหนี้ทำสัญญา พร้อมถอนการบังคับคดีผู้ค้ำประกันทุกรายที่ผู้กู้ยืมปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยืนยันทุกคนจะได้รับสิทธิ์ตามกฎหมาย ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายวันเข้าทำสัญญาล่วงหน้าทางเว็บไซต์ และจะทยอยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้กู้ยืมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า “กองทุนฯได้เปิดให้ผู้กู้ยืมที่ลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้กู้ยืมเข้ามาทำสัญญาแล้วกว่า 5,000 ราย ซึ่งหลังทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดทันที โดยกองทุนฯจะดำเนินการถอนการบังคับคดีผู้ค้ำประกันทุกรายที่ผู้กู้ยืมได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมที่มีสิทธิ์เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ได้แก่ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระทุกกลุ่ม โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืนกองทุนฯเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี และในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น กองทุนฯจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว กองทุนฯรีบดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดีให้ได้มีโอกาสผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ และเพื่อปลดภาระผู้ค้ำประกันทุกรายหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th โดยจะเปิดให้เข้ามาทำสัญญาทุกวันไม่เว้นวันหยุด เวลา 09.00 – 20.00 น. และสำหรับผู้กู้ยืมตามจังหวัดต่างๆ กองทุนฯจะทยอยดำเนินการและประกาศให้ทราบผ่านทางเว็บไซต์ กยศ. ต่อไป ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผู้กู้หลายแสนคนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน รวมถึงลดกระบวนการดำเนินคดี/บังคับคดี โดยจะมีเงินกลับเข้ามาที่กองทุนฯอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นน้องต่อไป” นายชัยณรงค์ กล่าว