ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หรือ ดร.แดน ประธานสถาบันการสร้างชาติ เปิดเผยความเห็นต่อกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าต่อไทย 36% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเกษตรกรรม ต้นทุนสินค้าไทยจะสูงขึ้นและทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เสนอรัฐบาลไทยเร่งเจรจาสหรัฐฯ พร้อมใช้โอกาสนี้ส่งเสริมการส่งออกอย่างสร้างสรรค์และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ในระยะยาวเพื่อให้เศรษฐกิจมั่นคงยั่งยืน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ขั้นต่ำ 10% และอาจสูงกว่านั้นขึ้นอยู่กับระดับที่สหรัฐฯ มองว่าเสียเปรียบทางการค้า โดยสำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ อ้างว่าไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงถึง 72% จึงนำไปสู่การเก็บภาษี 36% จากไทยในครั้งนี้
ดร.แดน กล่าวว่า การขึ้นภาษีนำเข้า 36% ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหนัก สินค้าไทยจะมีราคาแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ยอดส่งออกชะลอตัวและกระทบต่ออุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเกษตรกรรม นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และพันธมิตร อาจลดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย ทำให้การลงทุนชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP เติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่พึ่งพา การส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบหนักกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น
ไทยต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะบานปลายส่งผลกระทบไปทั่วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสงครามการค้าในยุค 1930s ที่สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ลงนามในกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ขึ้นภาษีนำเข้าและนำไปสู่สงครามภาษีตอบโต้กันไปทั่วโลก จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
ดร.แดน เสนอว่า รัฐบาลต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อนโยบายของสหรัฐในระยะสั้น เช่น
1. เร่งเจรจาขอให้สหรัฐฯ ปรับปรุงการคำนวณอัตราภาษีนำเข้าตามสถานการณ์ดุลการค้าอย่างรวดเร็ว เช่น ทุกเดือน ถ้าดุลการค้าดีขึ้นต้องลดอัตราภาษีนำเข้าลง เป็นต้น
2. ปรับปรุงดุลการค้ากับสหรัฐให้ดีขึ้น ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น
1) สั่งการให้กรมศุลกากรปรับลดภาษีนำเข้า สินค้าใดที่สามารถลดภาษีลงได้ ให้ปรับลดภาษีลงโดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน และ ช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยการชดเชย และ ช่วยลดต้นทุนผู้ส่งออก เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น
2) ภาครัฐอาจย้ายการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศอื่นมานำเข้าจากสหรัฐฯ แทนหรือ ช่วยอุดหนุนสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เพื่อทำให้ราคาถูกลงและนำเข้าได้มากขึ้น
3) อุดหนุนการส่งออกไปยังตลาดประเทศอื่น ทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐลดลง ซึ่งจะช่วยทำให้ไทยเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ลดลง
4) ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ ช่วยสร้างงานสหรัฐ ในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและควรจะไปอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
3. ใช้วิธีสร้างสรรค์ในการส่งเสริมการส่งออก เช่น ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ มาเยือนประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ นำสินค้าจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ เช่น ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบสินค้า ลดภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ข้อมูลและบริการที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดในการนำสินค้าออกจากประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย
ในระยะกลาง ไทยต้องใช้โอกาสนี้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังตลาดอื่น พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อียู และอาเซียน เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสูง เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนที่สูงและรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ การย้ายฐานผลิตยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้มากขึ้น ที่สำคัญในระยะยาว
“ไทยควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การขึ้นภาษีนำเข้า 36% โดยสหรัฐฯ เป็นความท้าทายสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย การรับมือด้วยนโยบายที่สมดุลและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น หากไทยสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ก็อาจเปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งขึ้น” ดร.แดนกล่าวทิ้งท้าย