จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง “Drama-addict” ได้โพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือจากลูกเพจที่เป็นลูกหนี้ กยศ. หลังพบว่าถูกหักเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 3,000 บาทแบบไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่เดิมมีการหักอยู่แล้วเป็นประจำทุกเดือน โดยไม่มีการแจ้งเตือนผ่านแอปฯ อีเมล หรือช่องทางอื่นใดล่วงหน้า
ต่อมา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ออกมาชี้แจงว่า ยอดเงินที่ถูกหักเพิ่ม 3,000 บาทนั้น เกิดจากกรณีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ลดภาระผ่อนชำระรายเดือน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ 100% และยังสามารถปลดผู้ค้ำประกันได้
หากผู้กู้ไม่ต้องการให้ถูกหักเงินเดือนเพิ่มในเดือนที่ทำการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งจาก 2 ข้อดังนี้:
1. ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
-ลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือน
-ขยายเวลาผ่อน
-ลดเบี้ยปรับ 100%
-ปลดผู้ค้ำประกัน
เมื่อดำเนินการภายในเดือนเมษายน 2568 ยอดหักเงินเดือนใหม่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคม โดยเดือนเมษายนจะมีการหักเพิ่ม 3,000 บาทเพียงครั้งเดียว
2. ชำระยอดหนี้ค้างทั้งหมด และแจ้งหลักฐานต่อนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างไม่หักยอดเพิ่มในเดือนเมษายน
เงื่อนไขหลักของการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. มีดังนี้:
-ผู้กู้ต้องผ่อนรายเดือนจำนวนเท่ากันทุกเดือน ภายใน 15 ปี และไม่เกินอายุ 65 ปี
-ดอกเบี้ย 1% ต่อปี เบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
-เบี้ยปรับจะถูกพักแขวนไว้ และหากชำระครบตามสัญญาจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
-ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นทันทีเมื่อทำสัญญาใหม่
หากผิดนัดชำระครบ 6 งวด หรือเหลืองวดน้อยกว่า 6 งวดแต่ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง จะถือว่าสัญญาสิ้นสุด และจะนำเบี้ยปรับกลับมาคิดใหม่พร้อมดำเนินการทางกฎหมาย
กลุ่มเป้าหมายของมาตรการนี้ ครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนฟ้องคดี, กลุ่มที่ถูกบอกเลิกสัญญา, กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วแต่ยังไม่บังคับคดี, และกลุ่มที่ถูกบังคับคดีแล้ว รวมถึงผู้กู้ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระ