ผิวไหม้แดดอันตรายกว่าที่คิด! เสี่ยงติดเชื้อ ภัยร้ายที่หลายคนมองข้าม

S__2252809

นพ.ดุลยทรรศน์ อนันตะยา ( หมอเมี่ยง) อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลวิมุต เผยในรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 โดยระบุว่าคนผิวเข้มก็มีโอกาสผิวไหม้แดดได้เช่นเดียวกับคนผิวขาว แม้จะไหม้ยากกว่าแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยจากอาการผิวเบิร์น

ซึ่งผิวไหม้แดด คืออาการบาดเจ็บของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน ส่งผลให้เซลล์ผิวถูกทำลาย อาการที่พบบ่อยคือ แดง แสบ ร้อน หรือในบางรายอาจมีตุ่มน้ำขึ้น คล้ายถูกน้ำร้อนลวก แบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ
• ระดับ 1: แดง แสบเล็กน้อย ผิวคล้ำลงชั่วคราว
• ระดับ 2: แดงมาก แสบมาก และอาจมีตุ่มน้ำใสขึ้น
• ระดับ 3: ผิวพอง มีแผลเปิด และเจ็บปวดมาก ควรพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ นพ.ดุลยทรรศน์ ยังแนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่
1. หลบแดดทันที เมื่อรู้สึกแสบหรือแดง
2. ทำให้ผิวเย็นลง เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ
3. กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน ถ้าเจ็บมาก
4. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำและฮีตสโตรก
5. ทามอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้ผิว
6. ห้ามเจาะตุ่มน้ำ ปล่อยให้หายเอง หรือหากตุ่มเปลี่ยนเป็นลักษณะหนอง ควรพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ นพ.ดุลยทรรศน์ ยังแนะนำถึงวิธีการเลือกและทากันแดดให้ถูกต้อง คือ
• ควรเลือก PA+++ ขึ้นไป และ SPF 30 ขึ้นไป
• ปริมาณที่เหมาะสมกับใบหน้า ทาประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ
ทาทั่วตัวประมาณ 30 ซีซี (1 แก้วช็อต)
• ควร ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หากมีกิจกรรมที่เหงื่อออกมากหรือโดนน้ำ

และถึงจะมีกันแดดแบบกินก็ไม่สามารถใช้แทนการทาครีมกันแดดได้ โดยแม้จะมีงานวิจัยยืนยันว่าช่วยป้องกันรังสียูวีได้ในระดับหนึ่ง แต่ประสิทธิภาพเทียบเท่า SPF เพียง 5–7 เท่านั้น จึงแนะนำให้ใช้ “ควบคู่” กับการทาครีมกันแดด เพื่อการปกป้องผิวที่ดีที่สุด

 

แท็ก