หมอเตือน! พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งลำไส้ แนะตรวจไว รักษาทัน ป้องกันได้

ฟ้า

พญ.หทัยวรรณ ม่วงตาด ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เผยในผ่านรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม” ทางคลื่น MCOT NEWS FM 100.5 ว่า “ลำไส้ใหญ่” และ “ลำไส้ตรง” แม้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่ทั้งสองส่วนต่างก็เป็นอวัยวะในกลุ่มลำไส้ส่วนปลาย และจัดอยู่ในระบบทางเดินอาหารเดียวกัน

โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ได้แก่ การบริโภคอาหารประเภทเนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุกอย่างเพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

และในด้านการวินิจฉัยโรค หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ท้องโต ท้องตึง หรือคลำเจอก้อนผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น การคลำหน้าท้อง ตรวจต่อมน้ำเหลือง และในบางกรณีอาจต้องส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายใน ซึ่งก่อนการส่องกล้อง ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวด้วยการ “ล้างลำไส้” เพื่อให้กล้องสามารถตรวจความผิดปกติได้อย่างชัดเจน

ซึ่งแนวทางการรักษา หากตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือระยะลุกลาม โดยเฉพาะในมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก แต่หากเป็นมะเร็งไส้ตรงในระยะที่ลุกลาม แพทย์อาจพิจารณารักษาเสริม เช่น การฉายแสง ก่อนการผ่าตัด

ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงสามารถ “ป้องกันได้” หากเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะก่อนเกิดโรค พร้อมแนะนำว่า “หากสงสัยหรือมีความกังวล ควรมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะทุกระยะของโรคมีแผนการรักษาที่เหมาะสม” พญ.หทัยวรรณ กล่าว

 

แท็ก