นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดเผยผลตรวจสารหนูในแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก จังหวัดเชียงราย พบค่าสารหนูเกินมาตรฐานในหลายจุด โดยเฉพาะจุดปากแม่น้ำรวกที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง พบค่า 0.19 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานถึง 19 เท่า ชุดตรวจที่ใช้พัฒนาโดย สวทช. ตรวจวัดได้แม่นยายในภาคสนาม โดยทีมวิจัยชี้ว่าสารหนูอาจมาจากพื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งน้ำหลากอาจพัดพามาในช่วงที่ผ่านมา
ผลการตรวจน้ำประปาในพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เนื่องจากมีระบบกรองโลหะหนักอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม น้ำริมตลิ่งแม่น้ำกกบางจุดก็พบค่าสารหนูสูงถึง 0.17 มิลลิกรัมต่อลิตร สะท้อนถึงความเสี่ยงจากการสะสมของตะกอนที่ปนเปื้อน ทีมวิจัยแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรงในช่วงนี้ และเสนอให้มีการตรวจดินนาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบในวงกว้าง
นักวิจัยเตือนว่าหากไม่มีมาตรการควบคุมสารเคมีจากต้นทางอย่างจริงจัง สถานการณ์การปนเปื้อนอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรียกร้องให้รัฐไทยเร่งดำเนินการทางการทูตกับเมียนมา เพื่อหยุดการไหลของมลพิษก่อนจะกระทบระบบนิเวศและประชาชนในวงกว้าง