อึ้ง! มลพิษคร่าชีวิต 13 ล้านคนทั่วโลกต่อปี สสส. สานพลังลดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ja(3)

อึ้ง! ทุก 1 ปี ทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิต จากสาเหตุมลพิษสิ่งแวดล้อม 13 ล้านคน สสส. สานพลัง 4 หน่วยงาน เปิดเวที “Environmental and Health Justice FORUM 2025” ขับเคลื่อนสิทธิ ความเป็นธรรมในสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อระบบหายใจ 43% โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ 33% พร้อมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่ภาครัฐ

เมื่อ 09.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 2568 ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาพิษอากาศ (ศวอ.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการสาธารณะระดับชาติ “Environmental and Health Justice FORUM” ภายใต้ประเด็น “สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย” เพื่อประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเท่าเทียมและหลากหลาย ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีทุกระดับ การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ นำเสนอทางออกร่วมกันสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะสุขภาพของประชาชนไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ แต่ยังขึ้นอยู่กับการที่ทุกคน ช่วยกันสร้างและปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่ปลอดภัย น้ำที่สะอาด และมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาวะ ดังนั้น สิทธิในสุขภาพ และสิทธิในสิ่งแวดล้อม จึงต้องได้รับการคุ้มครองควบคู่กันอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลกรวมทั้งในประเทศไทย โดยมลพิษสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศ เศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม จากผลการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในแต่ละปี มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตอย่างน้อย 13 ล้านคน จากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งจากการอยู่อาศัยหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCD เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และโรคระบบ ดังนั้น ถ้าสามารถดำเนินการลดมลพิษทางอากาศลงในระดับที่ปลอดภัย จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆได้ เช่น โรคติดเชื้อระบบหายใจ 43% โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ 33% โรคหลอดเลือดหัวใจ 31% โรคหลอดเลือดสมอง 25% และมะเร็งปอด 20%

“ปัจจุบันพื้นที่และชุมชนจำนวนไม่น้อยต้องแบกรับผลกระทบ ทั้งจากมลพิษ การสูญเสียทรัพยากร และขาดส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง การเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนสะท้อนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการที่จะร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่เป็นธรรมได้จริง เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่คือรากฐานของสุขภาพ ศักดิ์ศรี และความเป็นธรรมในสังคม” รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นายสาคร สงมา ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของปัญหาและความท้าทายในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ 1. ภาคเหนือ สถานการณ์วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 และหมอกควันข้ามแดน 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนปัญหาการละเลยระบบนิเวศท้องถิ่น 3. ภาคตะวันออก การพัฒนาอุตสาหกรรมผิดทิศผิดทาง ขยายตัวอย่างรวดเร็วกระทบสุขภาพประชาชน กระทบสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น 4. ภาคใต้ สะท้อนสถานการณ์ ผูกทุน คุกคามธรรมชาติ ด้วยการขยายอุตสาหกรรมและพลังงาน แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน 5. ภาคกลาง การพัฒนาเมืองเติบโตอย่างผูกขาด สิทธิชุมชนถูกมองข้าม และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนสถานการณ์ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็น ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างมีพลังจากหลากหลายภาคส่วน และหาทางออกเชิงนโยบายเสนอกับรัฐบาลเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

แท็ก