การพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี โดยที่ประชุมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 5 เสียง เห็นชอบให้ปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า สูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะส่งให้แต่ละจังหวัดทำแบบสอบถาม หากต้องการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็ให้พิจารณาส่งตัวเลขมา
ทั้งนี้ 10 จังหวัดนำร่องที่กระทรวงแรงงานมองว่าจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, สงขลา, พังงา, ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง จะต้องส่งตัวเลขการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาพิจารณาใหม่
ขณะที่สำหรับสูตรคำนวณใหม่ จะมีการเพิ่มจำนวนเดือนที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าไปคำนวณด้วย ส่วนตัวแปรอื่นๆ ได้แก่ ความสามารถของแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราสมทบของแรงงานยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะใช้ของปี 2566 มาพิจารณา
นอกจากนี้ มาตรา 87 ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบเพิ่มเติมจากสูตรคำนวณ ได้มีการปรับช่วงเวลาให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะที่จะมีการประชุมพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค.นี้ โดยจะเร่งให้ทันประกาศค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 ภายในเดือน เม.ย.นี้ แต่จะถึง 400 บาทหรือไม่ต้องดูที่ความเหมาะสม ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นจะไม่เท่ากันทุกจังหวัดและเป็นบางอาชีพเท่านั้น