ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 ที่ จังหวัดนครสวรรค์ น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหาการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร
จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยต่อภาคการเกษตรในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหาการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติดังกล่าว
“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการช่วยทำให้เกิดฝนตกนอกฤดูในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือ ซึ่งก็บรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้ระดับหนึ่ง กรณีการปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกร กรมชลประทาน ได้ประกาศอนุญาตให้พื้นที่ใดบ้างที่สามารถทำนาปรังได้ ส่วนบางพื้นที่ที่ไม่อนุญาต เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ได้แจ้งเตือนไปแล้วเช่นกัน แต่หากยังลักลอบปลูก ก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว