หมอเตือน ‘กระดาษเมา-แสตมป์มรณะ’ อันตราย หลอนประสาท รุนแรงเสี่ยงถึงตาย

fern

 

เตือน ‘กระดาษเมา-แสตมป์มรณะ’ อันตราย มีสารแอลเอสดี เมื่อเข้าร่างกายออกฤทธิ์หลอนประสาท เกิดอาการหวาดกลัว อาจทำร้ายตนเอง-ผู้อื่น นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัย “กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ” มีอันตราย ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “กระดาษเมา สติกเกอร์เมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ” เป็นการนำสารแอลเอสดี (LSD) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท มาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) มีลวดลายและสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคล้ายแสตมป์
หากนำมาอมไว้ใต้ลิ้น จะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที และออกฤทธิ์นาน 8 -12 ชั่วโมง สารแอลเอสดีที่อยู่ในกระดาษ จะทำให้ผู้เสพรูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร
“เมื่อเสพสารแอลเอสดีเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะทำให้มึนศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ เคลิ้มสุข หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทในการรับภาพและสีผิดเพี้ยนไป เห็นภาพความทรงจำในอดีต เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่นและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสพสารแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น

หากเสพเกินขนาดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะหยุดใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเป็นซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานานเพื่อให้อาการทุเลาลง

ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาล (รพ.) ธัญญารักษ์

ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี รพ.ธัญญารักษ์สงขลา และ รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

แท็ก