แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานแถลงข่าวการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากความร้อนด้วยค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) เพื่อสื่อสารแจ้งเตือนสถานการณ์ความร้อนด้วยค่าดัชนีความร้อน รวมถึงสร้างความตระหนักในการดูแลตนเองและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนแก่ประชาชน
โดย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความร้อนของประเทศไทยมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน กรมอนามัยจึงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานภาคีเครือข่าย พัฒนาค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ของประเทศไทย เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยจากความร้อนแก่ประชาชน โดยค่าดัชนีความร้อน เป็นค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ ขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร (Feel like) และนำมาใช้ระบุความเสี่ยง โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ระดับอันตราย (สีส้ม) และระดับอันตรายมาก (สีแดง)
แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคจากความร้อน (กลุ่มโรค Heat Stroke) ในช่วงปี 2562 – 2566 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสะสม 131 คน เฉลี่ยเป็น 26.1 รายต่อปี อาการเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ปวดศีรษะ ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ/สับสน/มึนงง มีผื่นแดงตามผิวหนัง แนะนำให้ประชาชน ดื่มน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และติดตามสถานการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ด้าน อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 คาดการณ์ฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 35-38 องศาเซลเซียส โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงที่สุด 43 – 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถิติของประเทศไทย (44.6 องศาเซลเซียส ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 28 เมษายน 2559 และ อ.เมือง จ.ตาก 15 เมษายน 2566) ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ๆ
เเละปีนี้อุณหภูมิสูงสุด 43 – 44.5 องศาเซลเซียส แต่ความรู้สึกของมนุษย์ หรือค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index อาจสูงมากกว่า ซึ่งอยู่ในระดับอันตรายมากในบางวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม ประชาชนควรติดตามข่าวการพยากรณ์อากาศและการพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาทางเว็บไซต์ www.tmd.go.th และเฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง