นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยถึงแนวทางการปรับปรุงทางเท้า ทางเดิน หลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม
นายวิศณุ กล่าวว่า กรุงเทพฯมีนโยบายปรับปรุงทางเท้า – ทางเดิน มี 16 เส้นทาง 86 กิโลเมตร ที่กำลังดำเนินการอยู่ และไม่ใช่แค่การปรับปรุงกระเบื้อง ผิวทางเท้าให้เรียบเท่านั้น แต่นำสิ่งกีดขวางออกด้วย โดยมอบหมายทีมงานลงพื้นที่สำรวจและเริ่มดำเนินการแล้ว ปีที่ผ่านมาปรับปรุงทางเท้า 300 กว่ากิโลเมตร บางจุดเป็นการซ่อมปรับปรุง เช่น กระเบื้องแตก เป็นหลุมบ่อ ซึ่งไม่ได้มีการเสริมเหล็กเหมือนกับทางเท้าใหม่ เพราะของเดิมไม่มีเหล็กเสริมเป็นการเทคอนกรีตให้เรียบและปูกระเบี้องทับ ดังนั้นการซ่อมปรับปรุงเป็นจุดอาจมีคุณภาพดีไม่เทียบเท่าเหมือนที่ทำใหม่ แต่อย่างน้อยต้องเดินได้และเดินสะดวก
ในส่วนทางเท้าที่ปรับปรุงตลอดทั้งแนวนั้นต้องดูหลายอย่างประกอบกัน ได้นำสิ่งกีดขวางและป้ายที่ไม่จำเป็นออกจากทางเดิน เพราะทางเท้าที่ทำใหม่มีเงื่อนไข คือ เดินได้ เดินดี วีลแชร์เข็นผ่านได้ ในขณะเดียวกันอุปสรรคที่พบคือ ต้นไม้ เนื่องจากทางเท้าแคบอยู่แล้วประกอบกับมีต้นไม้ใหญ่ก็จะส่งผลให้ทางเท้ามีพื้นที่ลดลงด้วย จึงต้องพยายามหาทางออกร่วมกัน เช่น นำพอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) ปูบริเวณโคนต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเท้า ในส่วนการใช้พื้นที่เอกชนก็มีการเจรจาซึ่งเป็นไปในทิศทางบวก ประเด็นสำคัญคือระยะที่จะขอใช้พื้นที่เอกชนนั้นต้องดูว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายผังเมืองรวมฯ ฉบับใหม่จะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ ถ้าเอกชนยินยอมให้กรุงเทพฯใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทม. จะสามารถชดเชยแก่เอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ได้เอื้อในจุดนี้