น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ Barriers and solutions to successful selfcare programs ในการประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง ” Achieving selfcare for aging in place ” ซึ่งจัดโดยสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย ระหว่างวันที่ 6 – 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 แบบ Onsite และ Online ณ โรงแรม Asia Hotel Bangkok เขตราชเทวี
น.ส.ทวิดา กล่าวว่า ในการดูแลตนเองและเตรียมตนเองก่อนเข้าสู่วัยสูงวัยให้มีสุขภาพดีและดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น ในฐานะหน่วยปฏิบัติการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุเราไม่ควรจะโฟกัสแค่เรื่องสุขภาพ หรือแม้แต่เรื่อง Work-life balanced การใช้เวลาเพื่อตนเองก็ดูเป็นเรื่องยากเพราะถูกขัดขวางด้วยเงื่อนไขเศรษฐานะและการดำรงชีวิตอยู่ในเมือง และยากที่สุดคือเวลา เมื่อไรก็ตามหากทำให้เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องประจำวันได้เมื่อนั้นจึงจะเกิดประโยชน์
การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดคือการไม่ป่วย แต่ในความเป็นคนเมืองด้วยเงื่อนไขการใช้ชีวิตทำให้ไม่มีแม้แต่เวลาตรวจสุขภาพ กรุงเทพมหานครพยายามจะตอบสนองตรงจุดนี้คือทำให้ประชาชนทราบสถานะสุขภาพของตนเองด้วย นอกจากนี้ กทม. เรามองการดูแลตนเองของผู้สูงอายุแบบองค์รวม, ทั้งการดูแลสุขภาพกาย ,การดูแลรักษาอารมณ์ให้สมดุล ,การดูแลตัวเองด้านความสัมพันธ์ พบปะผู้คนออกไปทำกิจกรรม ,การดูแลตัวเองด้านจิตวิญญาณ ,การพัฒนาและดูแลสุขภาพทางปัญญา ,พยายามอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ,รู้จักจัดการและวางแผนเรื่องการเงินของตนเองเพิ่มความมั่นคงทางการเงินได้
น.ส.ทวิดา ได้ฉายภาพแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุ กทม. โดยการดำเนินงานของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ผลิต Care Giver ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียง ให้สามารถคงความแข็งแรงของร่างกายไม่ให้ถดถอยเร็วเกินไป และจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร คลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ดูแลผู้สูงอายุและการดูแลประคับประคอง การรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสุขภาพยกหน่วยแพทย์เคลื่อนไปให้บริการ เยี่ยมบ้านให้การพยาบาลอย่างต่อเนื่องครบทีมโดยสหวิชาชีพแพทย์เภสัชกรพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และกายภาพบำบัด สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ฯ มอบให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงบูรณาการแบบไตรภาคีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติ นอกจากนี้ยังมีชมรมผู้สูงอายุ สนับสนุนการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ ปัจจุบันมีจำนวนชมรมผู้สูงอายุ 410 ชมรม สมาชิกกว่า 33,864 คน
“นี่เป็นความพยายามทำให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล คิดถึงองค์รวมที่ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีความสุข ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมสุขภาพ หรือเตรียมตัวเข้าสู่สูงวัยที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศให้ผู้สูงอายุคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองใหญ่นี้ รู้สึกไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป”