AI พลิกโฉมอีคอมเมิร์ซจีน ปี 2023 โตกว่า 15%
สำนักข่าวซินหัวอ้างรายงาน ซินหัว ไฟแแนนซ์ (Xinhua Finance) รายงานว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) รวมถึงธุรกิจรูปแบบใหม่ในภาคอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้ากับต่างประเทศของจีน
สถิติจากกรมศุลกากรชี้ให้เห็นว่าในปี 2023 ปริมาณการนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนสูงถึง 2.38 ล้านล้านหยวน (ราว 11.81 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี
หวงข่าย ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทโฝซัน ซุ่นเต๋อ เจี๋ยหนิง เฟอร์นิเจอร์ จำกัด (Foshan Shunde Jiening Furniture Co., Limited) กล่าวว่าการใช้ประโยชน์จากเอไอ ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้มากถึง 100 รายการภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง
จางคั่ว ประธานบริษัทอาลีบาบาดอตคอม (Alibaba.com) กล่าวว่า “ปี 2023 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของตลาดและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับมืออาชีพด้านการค้าต่างประเทศ ในอนาคต การพัฒนาที่ชาญฉลาดและมีความเกี่ยวข้องกับวิดีโอจะพลิกเปลี่ยนประสบการณ์การค้ากับต่างประเทศในยุคถัดไป”
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน อาทิ อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress) ชีอิน (SHEIN) และเทมู (Temu) เพิ่มอิทธิพลในระดับโลกของตนเองอย่างต่อเนื่อง มู่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพสูงในอีกระดับ ในอนาคตอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะมีบทบาทสำคัญต่อความต้องการมุ่งสู่เวทีโลกของแบรนด์สินค้าที่ผลิตในจีน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการสร้างช่องทางการขาย
เจ้าหน้าที่จากแคร์ (CARE) แบรนด์ชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์สัญชาติจีนกล่าวว่า ช่วงเทศกาล ‘Double 11’ ปี 2023 ร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของบริษัทจำหน่ายสินค้าได้มากกว่า 30,000 รายการ คิดเป็นเกือบ 5-8 เท่าของปริมาณที่จำหน่ายปกติ
หลี่หมิงเทา ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นานาชาติแห่งประเทศจีน (CIECC) กล่าวว่า “อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นแนวโน้มสำคัญในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในอนาคต โดยจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการมุ่งสู่เวทีโลกของแบรนด์สินค้าที่ผลิตในจีน รวมถึงสร้างช่องทางการขาย
แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการที่ต้องประเมินอย่างรอบคอบ จูเค่อลี่ ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมข้อมูลของจีน (China Information Industry Association) ผู้อำนวยการก่อตั้งสถาบันเศรษฐกิจใหม่ของจีน (China Institute of New Economy) ระบุว่าต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการขนส่งและการไหลเวียนของข้อมูล รวมถึงลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ
จูเสริมว่า เพื่อปรับปรุงการทำงานและระดับการให้บริการของคลังสินค้าในต่างประเทศ จำเป็นต้องเสริมแกร่งการประยุกต์ใช้ข้อมูล และการจัดการการดำเนินพิธีการตามกฎระเบียบ สร้างกรอบการทำงานที่ดีแก่คลังสินค้าในต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
นอกจากนี้ จำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ สร้างระบบการฝึกอบรมคุณภาพดีสำหรับผู้มีความสามารถในภาคอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม