ศาสตราจารย์แจน-เอมมานูเอล เด นีฟ (Jan-Emmanuel De Neve) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ที่ดีแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบรรณาธิการรายงานความสุขโลกกล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการมีชีวิตที่ดีของผู้คนคือ GDP ต่อหัวของประชากร, การกระจายความมั่งคั่ง, รัฐสวัสดิการที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจและการมีสุขภาพที่ดีให้กับผู้คน
โดยการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งวัดจะวัดจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม, รายได้, สุขภาพ, เสรีภาพ, ความเอื้ออาทร, และการทุจริตคอร์รัปชัน โดยปีนี้ ฟินแลนด์ยังคงอยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ด้วยคะแนน 7.741 คะแนน ตามมาติด ๆ ด้วย เดนมาร์กและไอซ์แลนด์ ซึ่งได้คะแนนไป 7.583 และ 7.525 คะแนนตามลำดับ
ทั้งนี้รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า นอร์เวย์, สวีเดน, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, และสเปน เป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุ มีความสุขมากกว่าคนหนุ่มสาวอย่างมีนัยสำคัญด้วย ตรงข้ามกับโปรตุเกสและกรีซ
ขณะที่ ความสุขของคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 15 – 24 ปีลดลงอย่างรวดเร็วในประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนประเทศในยุโรปกลางและตะวันออกกลับเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ส่วนประเทศไทยติดอันดับที่ 58 จากทั้งหมด 143 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนน 5.976 คะแนน แต่อยู่ในอันดับที่ 7 ของทวีปเอเชีย ซึ่งอันดับที่ 1 ของเอเชียยังคงเป็นสิงคโปร์ที่ครองแชมป์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตามมาด้วยไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม ขณะที่ เมียนมา, กัมพูชา, อินเดีย, ศรีลังกา, และบังกลาเทศ อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในเอเชีย
ด้านอัฟกานิสถานยังคงเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก ด้วยคะแนน 1.721 คะแนน ตามมาด้วยเลบานอน, เลโซโท, เซียร์ราลีโอน, และคองโก