กทม.เปิดวิสัยทัศน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุงเทพฯ สู่ Learning City เมืองแห่งการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าว Bangkok Learning City : Learning for Life Opportunities for All นโยบายสร้างกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO (UNESCO Global Network of Learning Cities) ในงาน BKK Read & Learn Festival ณ ลานจามจุรี สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย
.
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนา เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญคือพวกเราทุกคนในกรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกัน วันนี้ขอมาบอกเล่าถึงนโยบายที่เราได้ทำและจะทำต่อไปว่า Learning for Life, Opportunities for All เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ในวิสัยทัศน์ของเรานั้นเป็นอย่างไร
.
กรุงเทพมหานครมีวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ที่มุ่งเน้นดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัย การพัฒนาการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กวัยเรียน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับวัยรุ่น-วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน (0-6 ปี) ให้ได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ 284,677 คน อยู่ในความดูแลของกทม. 83,264 คน จะเพิ่มอีก 20,000 คน ผ่านชั้นเรียนอนุบาลโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่ง และศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ 8 แห่ง
.
ในส่วนการศึกษาภาคบังคับได้พัฒนาจากห้องเรียนแบบเก่าเป็นห้องเรียนดิจิตอล (Digital Classroom) ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ผู้เรียน มีความสนุกสนาน กระตุ้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาแบบ Active และ PBL เช่น Unplug Coding, Blockly, Scratch, Data Science, AI, Robotics และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
.
ส่วนการพัฒนาทักษะอาชีพ กทม.ดูแลทั้งด้านการ Reskill คือการเปิดให้เรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่แตกต่างเพื่อไปสร้างอาชีพใหม่ได้ ด้านการ Upskill ด้านการเข้ามาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ NEW Skill เรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
สุดท้ายที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for all, anywhere, anytime) ซึ่งไม่ได้จำกัดการเรียนรู้แค่เพียงเด็กวัยเรียนภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เยาวชน ศูนย์นันทนาการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด บ้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สวนสาธารณะ และภายในชุมชนทุกรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตพระนคร โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมและการพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม
.
“การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ฯ เกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น การดูแลเด็กปฐมวัย เรียนรู้ในโรงเรียนภาคบังคับ การพัฒนาทักษะอาชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ล้วนเป็นหัวใจในการเดินหน้านโยบายนี้ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังคงต้องทำงานอีกยาวไกล ขอบคุณ UNESCO ภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง ขอให้ร่วมกันเดินหน้าต่อไปเพื่อกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
.
ภายในงานวันนี้ ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ เช่น หนังสือในสวน ครั้งที่ 2 คิกออฟกิจกรรม “กทม. เมืองในฝัน ฉันร่วมด้วย!” ตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ภายใต้แนวคิด “I’m in” การมีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่ไปด้วยกัน ผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการ #BKKBookTok การเสวนาวิธีสร้างคอนเทนต์ให้ติดเทรนด์ ช้อปหนังสือเล่มละบาทจากมูลนิธิกระจกเงา เล่นอิสระ Free play จาก เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก และ Plantoys มุมนิทานสำหรับเด็ก จาก TK PARK กิจกรรมบอร์ดเกมในสวน จากสมาคมบอร์ดเกม กิจกรรม part of life จิ๊กซอว์ถอดการเรียนรู้ จาก Fathom Bookspace เป็นต้น
.
ในวันนี้มี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม คุณริกะ โยโรสุ ผู้แทนจาก UNESCO และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในงาน