“สปสช.- สปส.” บูรณาการทำงาน ยกระดับหลักประกันสุขภาพ เริ่ม 1 เม.ย. นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับสุขภาพ การเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพประชาชน มุ่งมั่นพัฒนาสิทธิและหลักประกันสุขภาพของไทย ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสุขภาพเชิงรุก พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้สิทธิของผู้ประกันตน สามารถตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานและเพิ่มเติม ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการเจ็บป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน บูรณาการความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในการดำเนินการ เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เพื่อสร้างกลไกสำคัญ ส่งเสริมให้ผู้ประกันตนมาใช้สิทธิตรวจสุขภาพตามรายการสุขภาพพื้นฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการสามารถใช้สิทธิตรวจสุขภาพเพิ่มเติมของสำนักงานประกันสังคม 14 รายการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เริ่ม 1 เมษายน 2567) มุ่งสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยทุกคน ทุกสิทธิอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ ด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพ ค้นหาความผิดปกติ และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่ระยะแรก รวมถึง ลดความซ้ำซ้อนของชุดบริการตรวจสุขภาพประจำปี (สปส.) และชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (สปสช). และ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนให้สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการเพียงแห่งเดียวแต่ได้รับบริการครอบคลุมตามรายสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ทั้งสองหน่วยงานกำหนด
โดยการบรูณาการร่วมกันในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือของหน่วยงานในการบริการตรวจสุขภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการบริการการตรวจสุขภาพประจำปี ของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 14 รายการ และการบริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคตามรายการบริการ (Fee Schedule) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จำแนกตามกลุ่มอายุ จำนวน 24 หมวดรายการ โดยการบรูณาการเน้นไปที่การขยายรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุมากขึ้น เช่น ช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี 1 ครั้งทุกปี เช่น ตรวจไขมันในเส้นเลือด(Total cholesterol & HDL cholesterol) น้ำตาลในเลือด(Fasting Blood Sugar) การทำงานของไต(Cr และ eGFR) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) ตรวจปัสสาวะ(UA) ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง(FiT TEST) การตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา(Tonometer) รวมถึงเพิ่มความถี่การถ่ายภาพรังสีทรวงอก(Chest X-ray) เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นดูแลประชาชน เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง และเสียชีวิต รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่จะสูญเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล โดยในปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว รวม 213 แห่ง แบ่งเป็น สถานพยาบาลรัฐ 165 แห่ง เอกชน 48 แห่ง สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ www.sso.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ต้องการพัฒนา บูรณาการทำงานในส่วนของหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการตรวจสุขภาพ ลดอัตราการเจ็บป่วย และเพิ่มการรักษาได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง อย่างครอบคลุม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป”