กกต.ตอบข้อหารือ คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม การสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

435694274_1005179704595720_62818614843742633_n (1)

กกต.ตอบข้อหารือ คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม การสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอบข้อหารือเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 3 ประเด็น ดังนี้
1. ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการ ส.ส. เป็นตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ถือเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 (22) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 หรือไม่
2. ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการ ส.ส. เป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 14 (15) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือไม่
3. ตำแหน่ง ตัวแทนพรรคประจำอำเภอ ของพรรคการเมืองเข้าข่าย มาตรา 14 (15) และ (22) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือไม่
สำนักงานกกต.พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1. ประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ตามข้อหารือนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ได้แก่ ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในพรรคการเมืองเป็นตำแหน่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองกำหนดขึ้นเอง
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความถูกต้องและเกิดความชัดเจนว่า ตำแหน่งตามข้อหารือในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 จะถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 14 (15) และ (22) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือไม่ เห็นควรหารือไปยังพรรคการเมืองต้นสังกัดที่มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา
2. ประเด็นที่ 2 ตามข้อหารือนั้น ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2554
ดังนั้น การพิจารณาว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันจะเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 14 (15) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 หรือไม่ จึงควรหารือไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 สรุปลักษณะของ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไว้ โดยเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยไม่ได้อยูในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐและมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
การที่บุคคลใดจะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกในเบื้องต้น เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567

แท็ก