อว.แนะช่วงสงกรานต์ ใช้ดินสอพองมีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ประเพณีนิยมนอกจากการสาดน้ำ คือการประแป้งด้วย ดินสอพอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น
เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน กระทรวง อว. ได้มอบหมายให้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายในท้องตลาด และแนะนำวิธีตรวจสอบ ว่าดินสอพองของแท้ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้สุ่มตรวจคุณภาพดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด
พบว่ายังมีดินสอพองปลอมถึงร้อยละ 42.6 มียิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก แทนดินสอพองของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ลหรือแคลเซียมคาร์บอเนต โดยฝุ่นยิปซัมถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้ หากสัมผัสกับผิวอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่นหรือเป็นลมพิษได้ ขึ้นอยู่กับความไวของผิวต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล
โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูหยดลงในดินสอพอง หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าเป็นดินสอพองแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ แสดงว่าเป็นดินสอพองปลอม และหากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมั่นใจว่าดินสอพองที่จะจำหน่ายให้ประชาชนต้องเป็นของแท้และมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น
ขณะที่ วศ.อว.ขอให้ข้อแนะนำประชาชนสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ หากเป็นแบบซองหรือแบบกระปุกพลาสติก ก็ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะอาด ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด พร้อมกับอย่าลืมตรวจสอบฉลากด้วยว่ามีส่วนประกอบ ชื่อแหล่งที่ผลิตและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือเครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
นอกจากนั้นห้องปฏิบัติการ วศ. ยังได้ตรวจพบว่า ดินสอพองที่สุ่มมาจำนวนร้อยละ 48 มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ติดเชื้อได้ ในกรณีที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีแผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ